เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 7 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม. และประชาชน เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ และผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน โดยให้แต่ละเขตสุขภาพจัดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์และต่อยอดทางธุรกิจเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และอาหาร

ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 7 ได้ขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์อย่างครบวงจร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ มีการนำกัญชา กัญชง มาต่อยอดทางธุรกิจด้วยการใช้จุดเด่นของอัตลักษณ์อีสาน เช่น อาหารพื้นถิ่นที่มีส่วนผสมจากกัญชา อาทิ น้ำปลาร้าปรุงรสผสมใบกัญชา น้ำพริกกัญชา ดักแด้ทอดกรอบผสมใบกัญชา น้ำมัลเบอรี่ผสมใบกัญชา ผลิตภัณฑ์เสริมความงามขัดพอกและบำรุงผิวจากเมล็ดกัญชง ที่น่าสนใจคือ การนำผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชง ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจสปาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “นวดอีสานขิดเส้น” ภายใต้แนวคิด นวดกันชง ดื่มกัญชา ในสปาอีสาน ช่วยให้ผู้รับบริการรู้สึกสบายและผ่อนคลายยิ่งขึ้น นับว่าช่วยต่อยอดธุรกิจและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 ได้เป็นอย่างดี

“ปัญหาตอนนี้ คือ เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น กัญชา ได้ถูกปลดออกไปจากความเป็นยาเสพติดแล้ว และจะบังคับใช้ในช่วงวันที่ 8-9 มิ.ย. แต่กว่าจะถึงจุดนั้น นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่หลาย ๆ ฝ่ายเกิดความสับสน กระทั่งมีการจับชาวบ้านที่ปลูกกัญชา 1 ต้นไว้รักษาตนเอง ซึ่งผมในฐานะตัวแทนรัฐบาลต้องขอโทษด้วย ทั้งนี้ นโยบายกัญชา จะมีความสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย. ก่อนจะถึงเวลานั้น หากต้องการปลูก ให้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนไปก่อน และเมื่อถึงเวลานั้น ขอให้ประชาชนใช้กัญชาในทางที่ถูกต้อง อย่าให้กัญชาต้องวนกลับไปที่จุดเดิม เราสามารถช่วยกันได้” นายอนุทิน กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ได้ขับเคลื่อนงานกัญชาอย่างเข้มแข็ง มีพื้นที่สำหรับปลูกกัญชา-กัญชง ถึง 160,463 ตารางเมตร เป็นกัญชา 57 แห่ง และกัญชง 114 แห่ง มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คือ โรงพยาบาลมหาสารคาม, โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, โรงพยาบาลพล จ.ขอนแก่น

ส่วนคลินิกกัญชาทางการแพทย์ มีการเปิดให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพรวม 74 แห่ง หรือ 96.1% รพ.สต. 9 แห่ง และยังมีโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้บริการอีก 4 แห่ง ช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบันได้สะดวกขึ้น เฉพาะเดือนมีนาคม 2565 โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 7 จ่ายสารสกัดกัญชาสำหรับการรักษา 360 ขวด จ่ายยาตำรับกัญชาแผนไทย เช่น ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ฯลฯ รวม 102,787 หน่วย และมีผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ได้รับยากัญชาทั้งหมด 125 คน ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.