สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ว่าบทความวิจัยซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารเจอร์นัล ออฟ เอเชียน เอิร์ธ ไซแอนซ์ (Journal of Asian Earth Sciences) เมื่อไม่นานนี้ คาดการณ์ช่วงอายุของฟอสซิลปลาที่ได้รับการค้นพบ ว่าน่าจะมีอายุอยู่ในยุคเทลีเคียน (Telychian) หรือช่วงเดียวกับหินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียน (Silurian) ตอนล่าง ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปราว 438 ล้านปี นับเป็นการค้นพบฟอสซิลปลา สายพันธุ์ยูจาเลียสปิฟอร์ม (Eugaleaspiform) ซึ่งโบราณ และเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน


รายงานระบุว่า ปลาสองสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า “ชิงสุ่ยอัสปิ จวิ้นชิงกิ” (Qingshuiaspis junqingi) และ “อันจี๋อัสปิ เอริเชียส” (Anjiaspis ericius)

ทั้งนี้ หินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียนตอนล่าง มีความกระจัดกระจายและพบได้ทั่วไปในภูมิภาคแยงซี โดยมีการศึกษาจำนวนมาก เกี่ยวกับการลำดับชั้นหินตามชีวภาพ วิทยาหิน และตะกอนวิทยาของยุคไซลูเรียนตอนต้นในจีน ขณะที่อายุทางธรณีวิทยา และความเกี่ยวโยงเชิงภูมิภาคของหินชนิดดังกล่าวในภูมิภาค ยังคงเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากการขาดหลักฐานฟอสซิลที่น่าเชื่อถือ


อนึ่ง ผลการศึกษาข้างต้น ซึ่งดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (ไอวีพีพี) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (ซีเอเอส) ถือเป็นหลักฐานฟอสซิลชิ้นสำคัญ ที่เกี่ยวโยงกับหินตะกอนทะเลสีแดงยุคไซลูเรียนตอนล่าง.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA