นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2565 กยศ.ได้เตรียมวงเงินสำหรับปล่อยให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้กู้ยืมไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท รองรับไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เพื่อต้องการช่วยเหลือให้ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ให้มีแหล่งทุนนำไปใช้ศึกษาเล่าเรียน และใช้จ่ายดำรงชีพได้ อย่างไรก็ตามหากมีความต้องการมากกว่านี้ กยศ.ก็พร้อมสำหรับใช้ปล่อยกู้เพิ่มได้อีก โดยจะใช้เงินสภาพคล่องของกองทุน ไม่ต้องเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล

“ขณะนี้ กยศ.ได้เริ่มเปิดให้มีการยื่นกู้ปีการศึกษาใหม่แล้ว โดยภาพรวมการปล่อยกู้ แม้จะมียอดเด็กเกิดใหม่ และผู้เข้าเรียนลดลงกว่าเดิม แต่ กยศ. ยังตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะเข้าใจว่ายังมีผู้ปกครองไม่น้อยที่ได้รับผลระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโควิด และรายจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงได้เตรียมวงเงินไว้ใกล้เคียงกับปีก่อน และพร้อมเพิ่มวงเงินได้อีก ส่วนการชำระหนี้ในปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะมียอดชำระไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากการหักชำระบัญชีเงินเดือน”

นอกจากนี้ กยศ.จะเสนอให้คณะกรรมการ พิจารณาชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้ รวมถึงงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และหรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้ เพื่อเป็นการดูแลแบ่งเบาภาระผู้กู้ยืมด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรมในการเปิดให้ลูกหนี้มีการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนทางการศาล ซึ่งจะช่วยให้ตลอดปีนี้ยอดการฟ้องร้องดำเนินคดีลดลง จากปกติเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ลดเหลือเพียงระดับพันราย รวมถึงกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย โดยปัจจุบัน กยศ.มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้กู้ยืม 2 ล้านราย

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ กยศ.ยังได้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ ขณะเดียวกันยังได้มีการขยายหลักเกณฑ์การกู้ยืมเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถเข้ามาขอกู้ได้เพิ่มขึ้น โดยเปิดให้นักเรียนระดับอาชีวศึกษา และระดับปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชา ที่เกี่ยวกับสืบทอดอัตลักษณ์ของชาติ หรือวิชาที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มรดกตกทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ช่างทองหลวง ศิลปหัตถกรรม โบราณคดี ดนตรีไทย เป็นต้น เข้ามากู้ยืมกับ กยศ.ได้โดยตรง  

นอกจากนี้ ได้เปิดให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ เข้ามากู้ยืมเงินในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้ด้วย การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และ ระดับปริญญาโท โดยจะมีหลักสูตรนำร่อง ในสาขาวิชาที่ตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เป็นต้น รวมทั้งสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย 

“ในปีนี้ กยศ.จะเปิดให้กู้ยืมเงินครบ 4 ลักษณะตามที่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ เพราะเดิม กยศ.จะให้กู้ยืมเพียง 2 ลักษณะ คือ 1.ให้กู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และ 2.ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่ต่อไปจะเพิ่มเติมการให้กู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษา ในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และลักษณะที่ 4 ให้กู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศได้ด้วย”