รายงานข่าวจาก นิตยสารฟอร์บส์ สื่อชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลก หรือ “The World’s Billionaires” หรือผู้มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไป ประจำปี 2565 นี้ นายอีลอน มัสก์ นักธุรกิจและนักลงทุนชาวอเมริกัน-แอฟริกาใต้ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทแห่งบริษัท Tesla ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินทั้งสิ้น 219,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้า เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง บริษัทค้าปลีกออนไลน์แอมะซอน  

ทั้งนี้ จากภาวะสงคราม, โรคระบาด และตลาดที่ซบเซาได้ส่งผลกระทบต่อมหาเศรษฐีโลกปีนี้ โดยมีมหาเศรษฐี 2,668 คน ในการจัดอันดับคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้ว 87 คน พวกเขามีทรัพย์สินมูลค่ารวมกัน 12.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือน้อยกว่าในปี 2564 ถึง 4 แสนล้านดอลลาร์ การลดลงอย่างน่าตกตะลึงนี้เกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศรัสเซีย ซึ่งมีมหาเศรษฐีลดลง 34 คนจากปีที่แล้ว หลังจากการบุกยูเครนของวลาดิเมียร์ ปูติน อย่างไรก็ตามมีเศรษฐีพันล้านมากกว่า 1,000 คนที่ร่ำรวยขึ้น และมีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ 236 ราย อเมริกายังคงเป็นผู้นำของโลก โดยมีมหาเศรษฐี 735 คน ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่ารวม 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึง อีลอน มัสก์ ประเทศจีน (รวมถึงมาเก๊าและฮ่องกง) ยังคงเป็นอันดับสอง โดยมีมหาเศรษฐี 607 คน มูลค่าทัรพย์สินรวม 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ 

ในการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลกประจำปีนี้ มีคนไทยติดอันดับรวมทั้งสิ้น 28 ราย หนึ่งในนั้นคือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัทชั้นนำของไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 137 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 405,000 ล้านบาท โดยลดลงจากปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งติดอันดับที่ 103 มีทรัพย์สินรวม 18,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 543,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี นายเจริญ เจริญสิริวัฒนภักดี อันดับที่ 156 มีทรัพย์สินรวม 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 360,000 ล้านบาท, นายสารัชถ์ รัตนาวะดี อันดับที่ 161 มีทรัพย์สินรวม 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 354,000 ล้านบาท 

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพี เปิดเผยว่าเครือซีพีดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและยึดมั่นในปรัชญา “3 ประโยชน์” ประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับแรก ถัดมาคือประชาชน และผลประโยชน์ของบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ความสุจริต และความเป็นธรรม โดยในปี 2563 เครือเจริญโภคภัณฑ์นำส่งภาษีเข้ารัฐ 22,475 ล้านบาท และมีการจ้างงานพนักงานในเครือรวม 149,978 ล้านบาท   

เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงลงทุนด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ยังคงเติบโตท่ามกลางสภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ และช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกได้   

เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Tech Company ด้วยการผนึกกำลังกับองค์กรชั้นนำระดับโลก MIT-Plug and Play ตั้งเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี “CPG Open Innovation Ecosystem Partner” ค้นคว้าและวิจัยทั้งด้านธุรกิจอาหาร เกษตรกรรม ไปจนถึงด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอีกหลายแขนง โดยทุกเทคโนโลยีจะนำไปสู่นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ 

นอกจากการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่ให้ทรุดตัวหนักแล้วนั้น ตลอดระยะเวลา 2 ปีของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติดังกล่าว โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทผ่านหลายโครงการ อาทิ การร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม, โครงการซีพีร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19 สนับสนุนอาหารและการสื่อสารแก่โรงพยาบาลสนาม, สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย, โครงการซีพีปันปลูกฟ้าทะลายโจร, โครงการครัวปั่นอิ่มร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19 และยังคงเดินหน้าโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบาย “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการฟื้นฟูประเทศไทย ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพ เพื่อขยายโอกาสการเติบโตทางธุรกิจและโครงการ 60+Plus Kitchen by CP เพื่อฝึกทักษะอาชีพด้านธุรกิจร้านอาหารและบริการแก่ผู้บกพร่องทางการมองเห็น  

จากทุกองค์ประกอบ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับการประเมินดัชนีความยั่งยืนประจำปี 2564 จาก S&P Global ให้เป็นผู้นำอันดับที่ 3 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates โดยเป็นผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ