เมื่อวันที่ 7 ม.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 60 (รธน.60) กำหนดให้กรณีนักการเมืองละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงไปให้ศาลฎีกาตัดสินและมีโทษประหารชีวิตทางการเมือง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 1.มาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นเรื่องภายในองค์กร ต้องให้แต่ละองค์กรกำหนดและชี้ขาดกันเอง หน่วยงานอื่นๆ เขาก็ทำกันเอง ลงโทษกันเอง 2. มาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสม จึงไม่ควรให้ศาลชี้ขาด ลงโทษ ศาลเกี่ยวข้องได้แบบรีวิวทบทวน เช่น ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัย ก็อาจฟ้องศาลให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษได้ เป็นการตรวจสอบว่าคำสั่งลงโทษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่กรณีนักการเมืองกลับนำมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรธน. และองค์กรอิสระออกมาปรับใช้ และยังให้ ป.ป.ช. มาชี้มูล ส่งให้ศาลฎีกาชี้ขาด

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า 3.โทษสูง การตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งลอดชีวิต ไม่ควรมี นี่คือการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ประหารชีวิตทางการเมือง รธน.60 เอามาใช้สองกรณี คือติดคุกเพราะคอร์รัปชั่น และละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งผู้ร่างเที่ยวเอาไปโฆษณาว่านี่คือ “รธน.ปราบโกง” แต่จริงๆ แล้วการโกงก็ยังมี และเพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางนี้ก็เอาไว้เล่นงานนักการเมืองกันไปมา

“ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกรณีศาลฎีกาตัดสินคุณปารีณา และเสนอว่าเราไม่ควรดีใจกับเรื่องแบบนี้ ตรงกันข้าม เราควรรณรงค์ชี้ปัญหาพิษภัย รธน.60 และต่อสู้กับ “นิติสงคราม” ครับ” นายปิยบุตร ระบุ