เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า นอกจากประเด็นเรื่องไม้ปูพื้นอาคารรัฐสภา ที่เคยร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการใช้ไม้คนละชนิด ตามที่ระบุไว้ในสัญญาคือจากไม้ตะเคียนทอง เป็นไม้พะยอม ซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่า ยังมีในเรื่องต้นไม้ที่นำมาปลูกในบริเวณอาคารรัฐสภา ซึ่งมีต้นไม้ตายจำนวน 347 ต้น และต้องนำมาปลูกทดแทนทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร ซึ่งสัญญาระบุว่าต้องล้อมมาอนุบาลเป็นระยะเวลา 8 เดือน และรอรากงอกเพื่อให้แน่ใจต้นไม้จะรอดอีก 8 เดือน รวมระยะเวลาเป็น 16 เดือน จึงสามารถตรวจรับงานได้

ทั้งนี้เดิมบริษัทผู้รับเหมาหรือไม่แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่รับช่วงต่อหรือไม่ มีกำหนดนำต้นไม้มาปลูกทดแทนบริเวณชั้น 8 และชั้น 9 ของตัวอาคาร เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด โดยทราบมาว่า เกิดปัญหาในเรื่องการจัดหาต้นไม้ที่อาจต้องมีขนาดเล็กลงจากเดิม เพราะหาขนาดโตเท่าเดิมไม่ได้ และต้องมีส่วนต่างถึง 20 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ใครต้องเป็นคนจ่ายคืนให้กับรัฐสภา เป็นบริษัทรับเหมาหรือบริษัทที่รับช่วงต่อ

นายวิลาศ ตั้งข้อสังเกตหากมีการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่งดเว้นให้บริษัทรับเหมา ไม่ต้องจ่ายค่าปรับค่างวดงานภายใน 2 เดือนนี้ ปลายเดือน พ.ค. เหลือเวลาอีก 14 เดือน สำหรับการปลูกต้นไม้ทดแทนส่วนที่ตายไป หากไม่สามารถดำเนินการได้ คาดว่าบริษัทรับเหมาต้องเสียค่าปรับในส่วนนี้เป็นเงินจำนวนหลายพันล้านบาท ซึ่งต้องคอยจับตาดูว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร.