นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะถึงช่วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ หรือ “ปีใหม่ไทย” ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศที่ภาพรวมของการระบาดยังต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

โดยช่วงนี้กระทรวงสาธารณศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แต่ยังไม่รวมตัวเลขที่ประชาชนตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง ด้วยชุดตรวจ ATK อีก 3-4 หมื่นรายต่อวัน รวมตัวเลขประมาณการ ณ ปัจจุบันจึงอยู่ที่ 5-6 หมื่นรายต่อวัน สิ่งที่น่าวิตกคือหลังสงกรานต์ตัวเลขอาจพุ่งถึงหลักแสนราย

ขณะที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เองก็ยังออกอาการผวา โดยล่าสุดมีการสั่งปรับลดงานสงกรานต์ ที่ทำเนียบรัฐบาล จากเดิมที่เตรียมเปิดทำเนียบให้บรรดา ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้ารดน้ำขอพรจาก “บิ๊กตู่” ได้ ก็ถูกสั่งเบรกกะทันหัน และปรับให้เหลือเพียงการจัดกิจกรรมภายในส่วนราชการเท่านั้น

แม้จะพูดได้ว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 กันไปอีกนาน แต่ก็ยังอดกังวลไม่ได้ เพราะหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจำนวนมากมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปในวงกว้าง และส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว จนอาจกลายเป็นวิกฤติสาธารณสุขกันอีกระลอก!

ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับมือโควิด-19 ควรจะต้องตั้งการ์ดให้สูงเข้าไว้ ทั้งการหามาตรการรับมือสถานการณ์ช่วงหลังสงกรานต์ การบริหารจัดการผู้ป่วย การบริหารจัดการโรงพยาบาล รวมทั้งเรื่องยารักษา ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมกันให้เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ประชาชนเอง ก็ต้องเตรียมตั้งการ์ดรับมือกับความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่กันอีกรอบ 

หากงานนี้รัฐบาลคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่อยู่ จนยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดไปหลายเท่าตัว ก็จะยิ่งส่งผลกระทบไปในหลายมิติ จนกลายเป็นแรงเสียดทาน “รัฐบาลเรือเหล็ก” มากยิ่งขึ้น

นอกจากวาระร้อนเรื่องโควิด-19 แล้ว สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ซึ่งล่าสุด ธนาคารโลกประจำประเทศไทย หรือ “เวิลด์แบงก์” ได้ออกมาประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ใหม่ จากเดิมคาดจีดีพีจะขยายตัว 3.9% ปรับลดเหลือเพียง 2.9% เพราะมองว่ามีปัจจัยผลกระทบจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด ทำให้มีผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและกระทบการบริโภค ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเต็มๆ

ขณะที่บรรดา “อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ” หลายรายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล งานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องการอัดนโยบายประชานิยม จนทำงบประมาณแบบขาดดุลยาวนาน กระทบฐานะการคลังระยะยาว จนกลายเป็นการบีบเศรษฐกิจให้ตกหุบเหวในอนาคต

ไล่ตั้งแต่ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการทำนโยบายการคลังของประเทศ ภาครัฐตอนนี้อยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะมีการทำงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันมานาน หนี้สาธารณะของประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ทำนโยบายต่าง ๆ ต่อเนื่องมาจนทำให้ประชาชนรู้สึกว่านโยบายประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไป ส่งผลให้ฐานะการคลังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาในระยะยาวไว้เยอะมาก

สอดคล้องกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มองว่า การทำนโยบายการคลังขณะนี้เหมือนไม่มีนโยบาย เป็นการใช้เงินไปเรื่อย ๆ ไม่เคยคิดว่าจะขาดดุลเท่าไหร่ และขาดดุลงบประมาณควรมีน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ฉะนั้นประเทศชาติตอนนี้ ต้องเน้นเรื่องการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ขณะที่การทำนโยบายการเงิน ต้องเน้น กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจการให้เติบโตพอสมควร เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้ คนดำเนินนโยบายการคลัง ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ เรื่องนี้อยู่ที่ผู้นำ หรือรัฐบาลมากกว่า ว่าจะคิดหรือไม่คิด

สิ่งที่ “อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ออกมาส่งสัญญาณเตือน ก็ทำให้นึกถึงสถานการณ์ที่ประเทศศรีลังกากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ที่มีปัญหาตั้งต้นมาจากหนี้สาธารณะของประเทศก็พุ่งสูงในระดับ 110 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผสมโรงกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำสินค้าจำเป็นทุกอย่างพากันถีบราคาสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของประเทศไม่เพียงพอกับภาระหนี้มหาศาล จนตกอยู่ในสภาวะประเทศใกล้ล้มละลายไปทุกขณะ

ดังนั้นถึงเวลาแล้ว…ที่รัฐบาลจะต้องมองภาพที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศศรีลังกา เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้เงินจากเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะใช้แบบมือเติบ ละลายไปกับโครงการประชานิยมอย่างที่ผ่านมา

ปรับโฟกัสมาที่เรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ก็มีเรื่องที่ทำเอารัฐบาลต้องปาดเหงื่อกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นผลพวงมาจากการแก้ปัญหา “หวยแพง” โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่นอกจากจะยังไม่มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว กลับสะดุดขาตัวเองล้มหน้าคะมำ

จากกรณีปรากฏคลิปเสียงของ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ ที่มีใจความสำคัญเรื่องการยึดโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลไปให้นายทุน และการนำเงินจากขบวนการค้าลอตเตอรี่ 15 ล้านบาท มาใช้ส่วนตัวเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ว่าการแก้ปัญหา “หวยแพง” ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเข้าทลายนายทุนกลุ่มอื่น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง

แม้งานนี้ “แรมโบ้อีสาน” จะชี้แจงว่าเป็นแค่การพูดเล่นแต่ “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้บังคับบัญชาจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน เพราะหากปล่อยไว้แบบไม่ชัดเจน ก็จะกระทบถึงภาพลักษณ์ความเป็นคนใจซื่อมือสะอาดของ “บิ๊กตู่” เองได้

ขณะที่การแก้ปัญหา “หวยแพง” จะต้องทำกันอย่างจริงจัง แก้ที่ต้นตอปัญหา โดยเฉพาะการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลในวงการหวย ที่เป็นต้นเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาหวยแพงขึ้น เพราะจาดส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเงินมหาศาลซึ่งปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการพิมพ์ลอตเตอรี่งวดละ 100 ล้านใบ หากขายเกินราคาในใบละ 100 บาท จะเกิดเงินส่วนต่างสูงถึง 2,000 ล้านบาท และยังไม่รวมบรรดาเลขชุด เลขดัง ที่มีการตั้งราคาสูงกว่าหน้าสลากฯหลายเท่าตัว ซึ่งก็ยิ่งทำให้เงินส่วนต่างตรงนี้เพิ่มสูงมากขึ้น

ดังนั้นการที่ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะแม่งานหลักในการแก้ปัญหา “หวยแพง” ออกมาประกาศว่า ลอตเตอรี่ 80 บาทต้องเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ และในเดือน มิ.ย. จะเป็นรูปประธรรมทั่วประเทศ ก็หวังว่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะยาว มากกว่าการพูดเอามันแล้วทำได้เพียง 1-2 เดือน หากไม่อย่างนั้นต่อไป “รัฐบาลเรือเหล็ก”คงไม่มีที่ยืนในเวทีการเมือง และอาจจะกลายเป็นรอยด่างเพิ่มเติมกับรัฐบาลยุค “พี่น้อง 3 ป.”

อีกเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ที่ต้องจับตาดูกันต่อไป คือการ “ประหารชีวิตทางการเมือง” นักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่มีบรรทัดฐานจากคดีของ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ที่ล่าสุดศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป

ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า จะมีคนการเมืองถูก “ประหารชีวิตทางการเมือง” ซ้ำรอย “เอ๋” ปารีณา หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่า ป.ป.ช.เริ่มมีการตั้งเรื่องสอบนักการเมืองที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันแล้ว

ขณะที่บริบทของพรรคการเมือง ขณะนี้หลายๆ พรรคมีการปรับทัพเตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งกันแล้ว ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มีการ “เสริมแกร่ง” ด้วยการตั้ง “2 บิ๊กท็อปบู๊ต” เข้าร่วมนั่งตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค คือ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ อนุกรรมการฝ่ายหารายได้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และ พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาค 2 พร้อมกับได้ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ โดยมีการตั้งเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องให้ประชาชนสนับสนุน 150 ที่นั่ง

ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็มีการส่งสัญญาณพร้อมลงสนามเลือกตั้ง โดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคมีการประกาศเป้าหมายทางการเมืองของพรรค ต้องใช้ผลงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ท้ายที่สุดคงจะต้องจับตาดูความร้อนแรงหลังสงกรานต์ ทั้งเรื่องสถานการณ์โควิด สภาวการณ์เศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเมือง ที่ทุกเรื่องล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความลุ้นระทึก!