เมื่อวันที่ 10 เม.ย. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘นิธิพัฒน์ เจียรกุล’ ระบุ

“สาเหตุหนึ่งของการลังเลเข้ารับวัคซีนในเด็กช่วงอายุ 5-17 ปี คือ กลัวว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ โดยเฉพาะ ‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ ล่าสุด คณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (US CDC) ได้เผยแพร่การรวบรวมผลการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ม.ค. 2565 จากประชากรกว่า 15 ล้านคนของ 40 มลรัฐ พบว่า การเกิดหัวใจอักเสบจะสูงสุดในเด็กอายุ 12-17 ปี (สูงสุดในเพศชายคือ 50–65 ต่อแสนราย และพบบ่อยในการฉีดเข็มสอง ส่วนเพศหญิงพบน้อยกว่าราว 10 เท่า) 

แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรคโควิด-19 จะเกิด ‘หัวใจอักเสบ’ ได้มากกว่าจากการฉีดวัคซีนถึง 1.8-5.6 เท่า

สำหรับผลเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับช่วงอายุ 5-11 ปี และ 18 ปีขึ้นไป

เห็นอย่างนี้แล้วผู้ปกครองที่ยังลังเลโปรดเปลี่ยนใจ เพื่อการเปิดเทอมกลางเดือนหน้า บุตรหลานของเราจะได้ไปโรงเรียนกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากห่างหายกันแบบเป็นๆ หายๆ มาสองปีกว่าแล้ว”