เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายปิยบุตร เเสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสเทรนด์แฮชแท็กในทวิตเตอร์ล่าสุดเรื่องไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน ว่า สะท้อนถึงความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง และสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน พวกเขายึดมั่นหลักการ มากกว่าตัวบุคคล ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ออกไป และได้คนที่พวกเขาชื่นชอบมาเป็นนายกฯ โดยไม่เป็นไปตามครรลองของระบบแล้ว พวกเขาก็ไม่สนับสนุน นอกจากนั้นแล้วยังสะท้อนไปถึงข้อเรียกร้องเรื่องระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่า Constitutional-Parliamentary Monarchy ด้วย

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการให้สถานะ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ คือ ประมุขของรัฐ และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แบบที่ประเทศอื่นๆเป็นกัน กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ ต้องมีสถานะเป็นกลางทางการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ เพื่อให้พระมหากษัตริย์มีสถานะเช่นนี้ได้ พระมหากษัตริย์จึงต้องไม่มีบทบาทในทางการเมือง ไม่แทรกแซงทางการเมือง การเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากประชาชนหรือผู้แทนประชาชน ซึ่งในระบบรัฐสภานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลของเขา หมดเวลาแล้ว ประสบกับวิกฤตความชอบธรรมจนถึงที่สุด ประชาชนไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป จึงควรต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่ มาทำหน้าที่ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้ว นายกฯคนใหม่ จะมาจากทางไหนนั้น ปัญหาน่าปวดหัวข้อนี้สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจ จนมาสู่ทางตัน

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนเสนอ 2 ทางเลือกที่หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง  และให้สภาเลือกนายกฯคนใหม่แทน จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ เท่าที่เหลืออยู่ โดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ ต้องตกลงกันให้แน่ชัดว่า มีภารกิจ “เฉพาะกิจ” ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อทำสองเรื่อง คือ แก้ไขวิกฤตโควิด ให้ดีขึ้น จนเข้าที่เข้าทาง พอสมควร พอประคับประคองต่อไปได้  และแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองประเด็น ได้แก่ ปิดสวิทซ์ ส.ว.และเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเมื่อแก้ไขในสองประเด็นนี้แล้ว แม้ยังไม่ได้เลือก ส.ส.ร. หรือแม้เลือก ส.ส.ร. แล้ว แต่ยังทำฉบับใหม่ไม่เสร็จ ก็สามารถยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ไปก่อนได้ เพราะอย่างน้อย ส.ว ก็หมดอำนาจเลือกนายกฯไปแล้ว โดยภารกิจสองเรื่องนี้ ใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ทางที่สอง ยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือก ส.ส. เลือกรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่แก้วิกฤตโควิด และแก้รัฐธรรมนูญ และให้แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายเรื่องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยจริงอยู่ ทางที่สองนี้ อาจประสบปัญหา ส.ว. 250 คน ไม่ยอมดับสวิทซ์ ยังมีอำนาจเลือกนายกฯอยู่ แต่ตนคิดว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองตอนนี้ ด้วยแรงของประชาชนที่ไม่พอใจและก่นด่า ส.ว. รัฐบาลสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญ 60 แบบนี้ จะทำให้ ส.ว. ไม่กล้าที่จะเข้ามาแทรกแซงในการเลือกนายกรัฐมนตรี และ ส.ส. เองก็น่าจะพร้อมผนึกกำลังปิดสวิทช์ ส.ว. มากกว่ารอบที่แล้ว

นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่อง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” เป็นปมปัญหาของการเมืองไทยมาตลอด ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะเกิดขึ้นเองหรือสมคบคิดสร้างขึ้นมา ก็จะมีกระแสเรียกร้อง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” ทุกครั้งไป ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะหลัง เมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทีไร ก็จะมีข้อเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองให้มี “นายกฯคนกลาง” บ้าง “นายกฯคนนอก” บ้าง ตอนใช้รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีการเสนอให้ตีความมาตรา 7 เพื่อมี “นายกฯพระราชทาน” ผ่าน “ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ตอนทำรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีข้อเสนอใน ส.ส.ร.ตอนนั้นว่า ต้องมีมาตราที่เปิดทางให้มีองค์กรอรหันต์มาแก้วิกฤตการเมือง แต่เรื่องนี้ตกไป 

นายปิยบุตร กล่าวว่า ในช่วง กปปส.ชุมนุม ก็มีการอธิบายให้ระบบถึงทางตัน เพื่อนำไปสู่นายกฯพระราชทาน พอมารัฐธรรมนูญ 2560 คราวนี้ไปกันใหญ่ พวกเขาคงทราบดีว่า ในอนาคต ถ้าหากต้องการเสนอนายกฯพระราชทาน กันอีก ก็จะถูกโต้แย้งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญบ้าง ขัดหลักการบ้าง อย่ากระนั้นเลย พวกเขาจึงบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญเสียเลย ในมาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ นี่คือ การติดตั้ง นายกฯพระราชทาน เข้าไปในรัฐธรรมนูญ นี่คือ Constitutionalisation of Royal Prime Minister 

“ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้  ถ้าเราลองอ่าน 272 วรรคสองดู จะเห็นได้ว่า ต้องลงคะแนนกันถึงสามรอบ รอบแรก กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อเสนอเรื่อง รอบสอง สองในสามของสองสภา เพื่อมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการเลือกนายกฯจากบัญชีรอบสาม กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อมีมติเลือกคนนอก เป็นนายกรัฐมนตรี ลองคิดดูว่า จะมีปัจจัยใดที่ส่งผลบังคับให้ทั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ว. สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันที่มากขนาดนี้ถึงสามรอบด้งนั้น ผมจึงยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากช่องทาง 272 วรรคสอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามระบบแน่ๆใครก็ตามที่ยืนยันว่า ไม่เอานายกฯพระราชทาน ก็ต้องยืนยันต่อไปด้วยว่า ไม่เอานายกฯตาม 272 วรรคสอง”นายปิยบุตร กล่าว