เมื่อวันที่ 15 เม.ย. เวลา 10.44 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) เปิดเผยว่าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย.65 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 324 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 332 คน ผู้เสียชีวิต 41 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.19 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.41 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.23 รถปิกอัพ 5.06 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.04 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.33 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 82.72 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01-20.00 น. ร้อยละ 8.33 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.72

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 16 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลำปาง และสระแก้ว จังหวัดละ 3 ราย เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,907 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,377 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 406,487 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 75,615 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 20,542 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 19,876 ราย

“สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-14 เม.ย.65 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,195 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,185 คน ผู้เสียชีวิต 157 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 44 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 43 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง 7 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ตรัง นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ” นายนิรัตน์ กล่าว

ทางด้าน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. ในฐานะเลขานุการ ศปถ. กล่าวว่าหลายพื้นที่ยังมีการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทย การรดน้ำดำหัวทำให้มีการเดินทางบนถนนระหว่างอำเภอ หมู่บ้าน และชุมชน มากขึ้น รวมถึงประชาชนยังคงเดินทางท่องเที่ยวตามจุดสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ และอาจมีการเฉลิมฉลองรื่นเริงด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครประจำจุดตรวจโดยเฉพาะจุดตรวจและด่านชุมชน เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การใช้อุปกรณ์นิรภัย และการขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อค ทุกครั้งที่ขับขี่ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่สี่ของการรณรงค์ 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมาพบว่า เกิดอุบัติเหตุ 376 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 392 คน รวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน เกิดอุบัติเหตุ 1,465 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 152 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,494 คน โดยส่วนใหญ่สถิติลดลง ยกเว้นผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น.