แม้แต่อาหารตามสั่ง ข้าวแกงข้างทางปรับเพิ่มกัน 5-10 บาท สาเหตุก็มาจาก ราคาพลังงานโลกสูงจนเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย กระทบมากที่สุดคือเงินในกระเป๋าคนไทยที่ต้องควักจ่ายแพงขึ้น ในช่วงที่รายได้ยังไม่กลับมาจากพิษโควิด หรือนักเศรษฐศาสตร์มักเรียกว่า… เจอวิกฤติซ้อนวิกฤติเข้าเสียแล้ว!

สถานการณ์อาจดูน่ากังวลเข้าไปทุกที เพราะเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 65 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาเพิ่มสูงอยู่ที่ 5.73% หรือสูงสุดในรอบ 13 ปีนับจากปี 51 เลยทีเดียว ทำให้บอกได้ว่าราคาสินค้าที่คนไทยต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายเพิ่มมากกว่า 5% เข้าไปแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีกหลายเดือน หากสงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่จบสิ้น แล้วคำถาม? คือ…เราจะรับมือกับสถานการณ์กับปัจจัยเหล่านี้ได้อย่างไร?

เงินเฟ้อคืออะไร

“เงินเฟ้อ” คือ  การวัดค่าของราคาสินค้า เช่น ราคาอาหาร เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ว่าเพิ่มขึ้นไปเท่าไร ซึ่งปกติจะวัดเงินเฟ้อจากการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการในช่วงเวลาวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า นั่นหมายถึง…หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% เช่น ถ้าข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว แต่วันนี้ราคากลับเพิ่มไปเป็นถุงละ 103 บาท นั่นแปลว่าราคาข้าวสารถุงนั้นมีราคาเพิ่มขึ้น 3%

ในปัจจุบันการรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ผันผวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% ซึ่งเป็นระยะปานกลาง โดยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้ เพราะหากเงินเฟ้อสูงหรือผันผวน จะสร้างความลำบากให้ธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับสร้างความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนการใช้จ่าย

แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเงินเฟ้อต่ำเกินไปหรือติดลบ บางคนอาจเลือกที่จะเลื่อนการใช้จ่ายไปก่อน เพราะเชื่อว่าในอนาคตราคาสินค้าย่อมลดลง แต่แม้ว่าราคาที่ลดลงนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ถ้าหากทุกคนชะลอการใช้จ่ายเหมือนกัน ธุรกิจอาจต้องปิดตัว และหลายคนอาจตกงานได้

เกินกรอบเป้าหมาย

ที่สำคัญ ถ้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% กนง.ต้องอธิบายเหตุผลกับ รมว.คลัง และประชาชน ผ่านทางจดหมายเปิดผนึกให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าเหตุใด เพราะอะไร และแนวโน้มจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เมื่อไร เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันว่า หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. เพื่อชี้แจง และต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

อย่างเช่นในครั้งนี้ที่ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกหา รมว.คลัง เพื่อชี้แจงเงินเฟ้อพุ่งสูงจนเกินกว่ากรอบไปไกล โดยประเมินเงินเฟ้อ 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 65 จนถึงไตรมาส 1 ปี 66 จะยังสูง 4.1% โดยเฉพาะไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ในปี 65 เงินเฟ้อจะสูงกว่า 5% ซึ่งเกินขอบบนที่ตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และ รมว.คลัง ค่อนข้างมาก โดยประเมินจะกลับเข้าสู่กรอบตั้งแต่ต้นปี 66 เป็นต้นไป

เกิดสแต็กเฟชั่นหรือยัง

เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หลายคนยังกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเกิด “สแต็กเฟชั่น” ในไทยหรือยัง? คำว่า สแต็กเฟชั่น มาจาก สแต็กเนชั่น ที่แปลว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และคำว่าอินเฟชั่น หรือเงินเฟ้อหมายถึงราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อรวมทั้งสองคำจะได้ความหมายว่า…เศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่สวนทางกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัญหาจากสแต็กเฟชั่นคือ เงินในกระเป๋าเท่าเดิม หรือลดลง แต่ต้องจ่ายเงินกับค่าสินค้าที่แพงขึ้น มีโอกาสที่จะกระทบต่อการชำระหนี้ค่อนข้างมาก

ในเรื่องนี้ “กระทรวงพาณิชย์” ได้เคยบอกไว้ว่า ไทยจะเกิดสแต็กเฟชั่นหรือไม่นั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี… สถานการณ์เช่นนี้ คงต้องมาติดตาม!!

มั่นใจไม่เกิดสแต็กเฟชั่น

เช่นเดียวกับ “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และในฐานะเลขานุการ กนง. ได้ประเมินว่า ราคาข้าวของราคาพลังงานแพงทำให้เงินเฟ้อทั่วไปปี 65 เพิ่มอยู่ที่ 4.9% จากคาดเดิม 1.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก มาจากปัญหารัสเซียและยูเครนที่ไม่คิดว่าจะลาวยาวมาไกลขนาดนี้ โดยปกติแล้วนโยบายการเงินจะมีผลอย่างน้อย 1 ปีเป็นต้นไป ทำให้ กนง.ประเมินเงินเฟ้อจะกลับมาสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ในระยะปานกลางในปี 66

“ประเทศไทยจะเกิดสแต็กเฟชั่น หรือเศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อสูงหรือไม่นั้น มองว่า สแต็กเฟชั่นถูกใช้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งสื่อถึงความน่ากลัวของเศรษฐกิจและนิยามอาจไม่เหมือนกัน แต่สแต็กเฟชั่น คือ เศรษฐกิจถดถอยเติบโตช้าตกต่ำนาน และเงินเฟ้อต้องสูงและสูงต่อเนื่องอย่างยั่งยืน แต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าข่ายสแต็กเฟชั่น เพราะเศรษฐกิจขยายตัว 3.2% และปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 4.4% โดยเศรษฐกิจปี 66 จะเติบโตเร็วกว่าศักยภาพด้วย มองอย่างไรแล้วก็ไม่เข้าข่ายสแต็กเฟชั่น”

กระทบเงินในกระเป๋า

จากผลกระทบเงินเฟ้อที่ดูรุนแรงมากที่สุดในเวลานี้ คือการใช้จ่ายของครัวเรือนที่เริ่มมีเสียงบ่นกันแล้วว่า ต้องจ่ายค่า
น้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าอาหารต่าง ๆ นานาเพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่เงินเดือน รายได้เท่าเดิม ยิ่งมีผลต่อความสามารถชำระหนี้ในแต่ละเดือน และกังวลว่าหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก การใช้หนี้ต่าง ๆ อาจลำบาก และเงินเหลือเก็บเหลือออมก็อาจไม่มีอีกด้วย

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้สำรวจครัวเรือนพบว่าการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ไม่ได้เลิกจ้างมาก แต่การให้เงินโอทีลดน้อยลง และการรับเพิ่มพนักงานยังไม่มากนัก ทำให้กระทบต่อรายได้ครัวเรือน และยิ่งอาหารแพง ยิ่งกระทบเข้าไปอีก ซึ่งสิ่งที่ครัวเรือนอยากได้มากที่สุด 39.2% คือ ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และบางส่วนต้องการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ด้วย

“เบื้องต้นภาครัฐได้ออก 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ โดยเน้นบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มคนเฉพาะ ขณะที่มีการปรับลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 เพื่อให้มีสภาพคล่องในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยอาจต้องลุ้นมาตรการภาครัฐเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาลดผลกระทบจากภาระการครองชีพของครัวเรือนที่เกิดขึ้น”

ดังนั้นสิ่งที่ครัวเรือนและคนไทยทำได้ในตอนนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าแพงขึ้น คือ การประหยัด ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ลด ละ เลิก เพื่อให้มีเงินได้มากขึ้น จะได้ไม่กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่กระทบกับการชำระหนี้ในแต่ละเดือน และท้ายที่สุดจะได้มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและจำเป็น

กังวลเงินเฟ้อต้องคุมให้ได้

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ย้ำว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสพบกับรองปลัดกระทรวงการคลังของสหรัฐ ซึ่งได้ระบุว่า ที่ผ่านมาในสหรัฐก็มีการพูดถึงภาวะสแต็กเฟชั่น แต่ปัจจุบันไม่มีการพูดถึงแล้ว ซึ่งภาวะสแต็กเฟชั่น คือ ภาวะที่เงินเฟ้อสูง และจีดีพีปรับตัวลดลง แต่ขณะนี้จีดีพีของไทยยังโต แต่โตไปพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจในแง่เชิงปริมาณขยายตัวอยู่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยยังขยายตัว ซึ่งยังไม่น่ากังวลเรื่องสแต็กเฟชั่น แต่ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เพราะราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจะทำให้การใช้จ่ายเรื่องการบริโภคชะลอตัวลง ดังนั้นต้องคุมเรื่องของเงินเฟ้อให้ได้

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวอยู่ที่ 3-4% ต่อปี ลดลง 0.5% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังยืดเยื้อ ต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะขยายตัวไม่สูงโดดและค่อยๆ ตกมาแบบบางประเทศ แต่จะค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นอย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ ส่วนทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก คาดจะมีการผ่อนคลายมาตรการโควิดเพิ่มเติม ช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น่าจะเดินทางเข้ามาได้ ขณะที่ราคาน้ำมันมองว่าไม่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ไทยเสี่ยงเจอสแต็กเฟชั่น

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีมุมมองว่า ประเทศไทยกำลังเสี่ยง เจอภาวะสแต็กเฟชั่น ที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าเงินเฟ้อไทยยังไม่สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่น แต่ที่น่าห่วงคือเงินเฟ้อเป็นระดับค่าครองชีพเฉลี่ย ทำให้คนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายกับพลังงานและอาหารมากกว่าคนรวยอาจได้รับผลกระทบมากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศ

การที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยพุ่งขึ้นสูงกว่า 5% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักเอาอาหารสดและพลังงานออกก็ขยับสูงขึ้นไปเกือบ 2% สูงที่สุดในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลรอบสองของต้นทุนราคาน้ำมันและอาหารเริ่มส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มต้องปรับตัวขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารนอกบ้าน และราคาสินค้าอื่น ๆ และมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะขึ้นต่อไปอีก โดยความเสี่ยงสำคัญคือปัญหาวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังสร้างความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อ อาจไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว ยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาที่ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในการคาดการณ์ของทุกฝ่าย การปรับค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าบ้าน และราคาสินค้าคงบวกเอาการคาดการณ์เงินเฟ้อใส่ลงไปด้วย ทำให้เงินเฟ้อค้างในระดับสูงและลงยาก ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ หากเราไม่ขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคงสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกลับมากระทบเงินเฟ้อจากสินค้านำเข้าอีกรอบ

รัฐบาลต้องดูแลใกล้ชิด

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการ ค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ภาคเอกชนยังมีความเป็นห่วงภาวะสแต็กเฟชั่น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่โต ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องการให้รัฐปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้เร็วขึ้น ซึ่งไม่ต้องรอไปจนถึงเดือน ก.ค. 65 เพราะทำให้เราเสียเปรียบ เพราะขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เห็นโอมิครอนเป็นเพียงแค่ไข้หวัดธรรมดา สามารถรักษาและควบคุมได้ บางประเทศก็เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนแล้ว เช่น มัลดีฟส์ ทำเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ดี ดังนั้นหากไทยสามารถเปิดประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้ก็จะสร้างความได้เปรียบ แต่ต้องติดตามสถานการณ์เป็นระยะด้วย ภาคเอกชนเข้าใจว่าการเปิดประเทศไม่ควรเสี่ยงแต่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนักลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านราคาสินค้าซึ่งได้รับผลกระทบราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบ ซึ่งหอการค้าไทย ได้ส่งสัญญาณการปรับราคาสินค้ามาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ว่าปีนี้ราคาสินค้าจะขยับตัวสูงขึ้นแน่จากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยขณะที่ประเมินนั้นยังไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ช่วงนั้นยังไม่สามารถปรับราคาได้ เพราะหากขึ้นราคาก็อาจขายไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี โดยสต๊อกที่มีอยู่เดิมหมดไปแล้วต้องซื้อวัตถุดิบที่มีราคาแพงขึ้นจะส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นแน่นอน.