เมื่อวันที่ 27 ก.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 27 กรกฎาคม 2564…ไทยเรามีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติขยับขึ้นเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันเป็นอันดับ 10 ติดอันดับท็อปเท็นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 420,110 คน รวมแล้วตอนนี้ 195,304,268 คน ตายเพิ่มอีก 6,795 คน ยอดตายรวม 4,181,947 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อิหร่าน อินเดีย อเมริกา อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 28,228 คน รวม 35,266,303 คน ตายเพิ่ม 78 คน ยอดเสียชีวิตรวม 626,951 คน อัตราตาย 1.8% จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันของอเมริกาตอนนี้น้อยกว่าไทยแล้ว
อินเดีย ติดเพิ่ม 30,125 คน รวม 31,439,764 คน ตายเพิ่ม 415 คน ยอดเสียชีวิตรวม 421,411 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 18,999 คน รวม 19,707,662 คน ตายเพิ่ม 503 คน ยอดเสียชีวิตรวม 550,502 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,239 คน รวม 6,149,780 คน ตายเพิ่ม 727 คน ยอดเสียชีวิตรวม 154,601 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 5,307 คน ยอดรวม 5,999,244 คน ตายเพิ่ม 45 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,667 คน อัตราตาย 1.9%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
สเปนแซงอิตาลี เบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 10 เรียบร้อยแล้ว

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชีย และยุโรปที่ยังคงรุนแรง ยอดติดเชื้อต่อวันจากสองทวีปนี้รวมกันแล้วสูงถึงเกือบ 74% ของจำนวนติดเชื้อทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่น
กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดน้อยกว่าสิบ

สถานการณ์ของไทยเรานั้น หากรวมยอดติดเชื้อใหม่ในวันนี้ก็จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมแซงซาอุดิอาราเบีย ขึ้นเป็นอันดับที่ 46 ของโลกแล้ว ก้าวกระโดดจากอันดับเกือบ 120 มาเป็น 46 ได้ในเวลาราว 7 เดือน หากจำไม่ผิด

“…หยุด…ช่วย…หา…ใช้…และเลิก…” นี่คือ 5 ยุทธศาสตร์ที่จะพาชาติผ่านวิกฤติการระบาดครั้งนี้
…หยุด…
ต้องใช้มาตรการหยุดให้คนอยู่กับที่อย่างจริงจังทั้งหมด ไม่ใช่ล็อกแบบไม่ล็อก หรือล็อกแบบไม่ล็อกบางพื้นที่ เพราะการระบาดกระจายไปทั่วดังที่เคยอธิบายไปแล้ว และต้องยอมรับว่าจะใช้ยุทธศาสตร์“หยุด”ในเวลานี้นั้นถือว่าช้ากว่าที่ควรมาก การหวังผลที่จะตัดวงจรการระบาดจึงต้องใช้เวลานานเป็นเดือนดังที่เห็นจากบทเรียนของต่างประเทศ และต้องทำควบคู่กับยุทธศาสตร์อื่นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

…ช่วย…
ต้องวางแผนช่วยเหลือ ประคับประคอง เยียวยา คนทุกหัวระแหง เพราะครั้งนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากทุกคนในประเทศต้องตกอยู่ในสภาพที่ทรัพยากรร่อยหรอลงไปมากหรือหลายต่อหลายคนไม่มีเหลือแล้ว อันเป็นผลมาจากการควบคุมป้องกันโรคด้วยมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการการระบาดรุนแรง ทำให้การระบาดเป็นไปอย่างยาวนาน ณ จุดนี้จึงจำเป็นต้องเน้นเรื่อง“ช่วย”เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เงินกู้ที่กู้มานั้นควรได้รับการปรับใหม่เพื่อนำมาใช้เพื่อการนี้ มิใช่เพื่อการไปกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะจะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขอให้นำมาเยียวยาให้คนพอมีชีวิตรอดระหว่างสู้กับโรคระบาด มีชีวิตรอดก็จะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก มาช่วยฟื้นฟูกันด้วยมือของทุกคน

…หา…
ต้องค้นหา ตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพิ่มศักยภาพในการตรวจให้มากที่สุด เต็มกำลัง ตลอดช่วงเวลาที่ทุกคน“หยุด” ยิ่งตรวจได้มาก แล้วนำเข้าสู่ระบบการกักตัว และดูแลรักษาให้ครบถ้วน การหยุดก็จะใช้เวลาสั้นลง และมีโอกาสจบศึกได้ รัฐทำเองไม่มีทางสำเร็จ จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน“หา” แต่รัฐต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดหาสิ่งจำเป็น ลดขั้นตอนอุปสรรคของรัฐเอง และใช้ทักษะความสามารถของเอกชนและชุมชนมาช่วยเสริมในด้าน IT ฐานข้อมูลกลาง การสื่อสารสาธารณะ และการแชร์กระจายข้อมูลแบบ real time โดยมีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน

“สำคัญที่สุดคือ เตรียมสถานที่และกำลังพลให้พร้อมโดยใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ ใช้วัดและโรงเรียนทั่วประเทศมาสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ” และฝึกอบรมพระหรือคุณครู เป็นครู ก. ครู ข. โดยทำหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำแบบไม่เผชิญหน้า และประสานงาน กำกับดูแลแต่ละสถานที่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ ศักยภาพของการตรวจคัดกรองโรค จำเป็นต้องทำให้ระบบของประเทศรองรับความต้องการในการตรวจให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อคนต่อปีในระยะยาว
แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ต้องตรวจให้มากที่สุด จนกว่าจะคุมโรคได้

…ใช้…
ต้องรื้อนโยบายและกลไกการทำงานวัคซีน หยุดการคิดค้นหาสูตรท่ามกลางสงครามรุนแรง เลิกการใช้วัคซีนไขว้ เพราะยังมีหลักฐานทางคลินิกไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้สำหรับคนหมู่มากในสังคม มุ่งหา shortcut ที่จะมาจัดการการระบาด ใช้วัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักของประเทศ ยกเลิกการสั่งซื้อวัคซีนเดิมที่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพต่อไวรัสกลายพันธุ์ ระหว่างการรอจัดซื้อจัดหาวัคซีน mRNA จำเป็นต้องปรับไปใช้วัคซีนที่มีอยู่ โดยใช้ Sinopharm สำหรับคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และ Astrazeneca สำหรับคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

…เลิก…
ต้องเลิกนโยบายเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ นี่ไม่ใช่เวลาครับ รอให้จัดการการระบาดได้ดี มีอาวุธป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงและประชาชนได้รับอย่างครอบคลุม นั่นจึงจะเป็นเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม

“จงเรียนรู้และยอมรับความจริงเสียทีว่า สภาพปัจจุบันเกิดจากการมุ่งดำเนินการที่เป็นทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียมากมาย” ทั้งเจ็บป่วย เสียชีวิต และส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างมหาศาล มากกว่าการตัดสินใจทำล็อกดาวน์เข้มข้นตอนระลอกแรก ซึ่งใช้เวลาสั้น มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าปัจจุบัน ที่ระบาดรุนแรงยาวนาน โดยยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้เรามีแรงกายแรงใจร่วมกันป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ อย่าให้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า ด้วยรักและห่วงใย…

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat