เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย อดีต ส.ส.พัทลุง หลายสมัย เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณี คดีความของครอบครัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เกี่ยวกับการบุกรุกป่าที่ราชบุรี

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ คดีบุกรุกป่าที่ราชบุรี

-คุณธนาธร คงถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดี ผมไม่กล่าวถึงคดีอื่น แต่ขอกล่าวถึงคดีที่คุณธนาธรและครอบครัวถูกกล่าวหาว่า โกงชาติ  โกงแผ่นดิน โกงป่า กรณีครอบครองที่ดินรัฐ ต่อมากรมที่ดินเพิกถอนการซื้อขายที่ดินนั้น

-ผมทราบว่า คุณธนาธร และครอบครัวซื้อที่ดินนี้มาตั้งแต่ปี 2533 โดยมีการบันทึกไว้ว่า ที่ดินนี้ อาจจะอยู่ หรือ ไม่อยู่ในเขตป่า ก็ได้ แต่หากอยู่ในเขตป่าจะถูกเพิกถอนได้ในภายหลัง

-ที่ดินที่มีการซื้อขายและต่อมาถูกเพิกถอนในภายหลังในแต่ละปีมีแบบนี้เยอะครับ การเพิกถอนแบบนี้ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง หรือ เป็นคดีแพ่ง เป็นคนละเรื่องกับการบุกรุกที่ดินที่เป็นคดีอาญา ผมทราบว่า ในกรณีของคุณธนาธร หน่วยงานที่รับผิดชอบมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ

– ผมสรุปอย่างนี้ครับ

1.การเพิกถอนเนื่องจากเป็นที่ป่า เรื่องนี้ตรวจสอบได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ หากอยู่ในที่ป่าก็เพิกถอนไป เรื่องก็จบ

2. ส่วนการบุกรุกที่เป็นคดีอาญา ยากครับที่คุณธนาธรและครอบครัวจะมีเจตนาบุกรุกที่จะ เป็นคดีอาญา เพราะขณะซื้อ เจ้าหน้าที่ที่จดทะเบียนโอนก็ไม่แน่ใจว่าอยู่ในที่ป่าหรือไม่ การจะผิดอาญา ต้องเป็นกรณีที่รู้โดยแน่ชัดขณะซื้อว่าเป็นที่ป่า แล้วยังซื้ออย่างนี้จึงมีเจตนาบุกรุก

3. น.ส.3 เป็นเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ที่รัฐเป็นคนออกให้ เมื่อยังไม่ถูกเพิกถอนก็เป็นเอกสารที่ถูกต้อง หากเราไม่เชื่อเอกสารที่ออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐการทำนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินก็ทำไม่ได้เลย เรื่องนี้หากจะผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ออก น.ส.3 นั่นแหละผิด จะโทษประชาชนไม่ได้

4. เปรียบได้กับกรณี อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ที่ปลูกบ้านในที่ป่า แล้วต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นที่ป่าท่านก็รื้อบ้านออกไป อัยการสั่งไม่ฟ้องอ้างว่าท่านขาดเจตนา นั่นเป็นการซื้อที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ เลย แต่ของคุณธนาธรซื้อที่ดินที่มี น.ส.3 ด้วยซ้ำ จึงห่างไกลกับการบุกรุกป่าในคดีอาญาเยอะมาก                               

-ในระบอบประชาธิปไตย “ทุกคนต้องเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย” หากเราไม่มีอคติทางการเมือง ก็ลองใช้ดุลพินิจดู หากเห็นด้วยกับผม ก็เพียงแสดงความเห็นว่า “เห็นด้วย” หากไม่เห็นด้วย ก็แสดงความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” แต่ต้องแสดงเหตุผลด้วยว่าท่านไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด อย่าใช้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบทางการเมือง อย่าใช้คำหยาบคาย ด้อยค่าคนในคนหนึ่ง ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนเรื่องแบบนี้ผมตรงไป-ตรงมาเสมอครับ มิใช่ว่าพอถอดเสื้อแจ็กเกตพรรคหนึ่งผมจะเปลี่ยนไป เรื่องแบบนี้เราต้องวางหลักให้สังคม ขอขอบคุณท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายอย่างตั้งใจ ต้องยินดีว่าวันนี้ ท่านเป็นคนไทยที่อ่านเกิน 7 บรรทัดแล้ว