เมื่อวันที่ 27 ก.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอแนะไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ของ กสม.มีดังนี้ 1.ครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และควรคำนึงถึงหลักความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ถือว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือปฏิบัติการใดๆ จึงควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก ทั้งนี้อาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทำโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติมาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า 2.ครม.ควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองเสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 3.ครม.ควรดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า 4.กสม.ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงโดยระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วม เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับการรับฟังและร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว.