เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 เม.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พร้อม พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. และ พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.4 บก.ป. แถลงผลการจับกุม นายกำจรเกียรติ (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี ประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 778/ 65 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2565 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ปลอมเอกสารสิทธิ, ใช้เอกสารสิทธิแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ หรือเอกสารราชการ” หลังจับกุมตัวได้บริเวณอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. พร้อมของกลางที่ใช้กระทำความผิดหลายรายการ

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า สำหรับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ก่อนหน้านี้เคยถูกตำรวจกองปราบตรวจสอบมาแล้วเมื่อปี 63 เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อเค้ากระทำความผิด ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามผังองค์กร โดยแจ้งว่าจะมีเงินเดือนค่าตอบแทนในแต่ละระดับตั้งแต่ 15,000-1,000,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าโครงการตามที่กล่าวอ้างไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง และมีผู้อยู่เบื้องหลังคือนายกำจรเกียรติ แต่เนื่องจากขณะนั้นยังเป็นเพียงการเริ่มต้นจึงยังไม่ปรากฏความเสียหายที่แน่ชัดทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้

พ.ต.อ.ปทักข์ กล่าวว่า กระทั่งเดือน ก.พ. 65 ได้รับแจ้งข้อมูลจากพลเมืองดีชาว จ.เชียงใหม่ ว่า คณะปฏิรูปฯได้มาชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่ม โดยอ้างว่า ถ้าเข้าร่วมจะได้ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับตำบล มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 50,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมเสียค่าสมัครสมาชิกแรกเข้าเป็นเงิน 320 บาท พร้อมกับนำพยานหลักฐานต่างๆ มามอบให้ เจ้าหน้าที่จึงเร่งจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแสหลักฐานเพิ่มเติม จนทราบว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง โดยเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวบ้านในแทบพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ตาก, พิจิตร และนครสวรรค์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ

พ.ต.อ.ปทักข์ กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบหรือวิธีการหลอกลวง นายกำจรเกียรติ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์ฯ จากนั้นจะทำทีตีสนิทกลุ่มชาวบ้านแล้วชักชวนให้เข้ากลุ่มเป็นสมาชิก โดยชี้แจงนโยบายการทำความดีของกลุ่มจำนวน 19 ข้อ เกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ มีเงินเดือนให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจ รวมถึงยังมีการแอบอ้างตัวว่าเป็นประธานบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหลอกเอาเงินค่าสมัครสมาชิก แม้เงินค่าสมัครต่อคนจะเป็นเพียงเงินหลักร้อย แต่เมื่อมีจำนวนผู้หลงเชื่อสมัครสมาชิกเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็จะถือเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล เฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564-28 มี.ค. 2565 พบมียอดรวมเงินโอนเข้ากว่า 29 ล้านบาท

พ.ต.อ.ปทักข์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบบริษัทต่างๆของนายกำจรเกียรติ ที่มีการกล่าวอ้างว่าพบไม่มีการประกอบกิจการตามที่กล่าวอ้างจริง อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินยังพบว่า เงินที่ได้มาส่วนใหญ่จะถูกโอนไปยังหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดีหลายราย บางรายโอนเงินเพื่อให้หญิงสาวโชว์ของลับวาบหวิว, โอนให้กับผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ที่เป็นกลุ่มพวกพ้อง หรือ ผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน

จากการสอบสวน นายกำจรเกียรติ ให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นจึงทำการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป.