นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้การดำเนินปฏิบัติงานขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำและลำคลอง จำนวน 3 แห่ง 3 จังหวัด ได้แก่ 1.แม่น้ำจาง ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 2.คลองเสลี่ยงแห้ง ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และ 3.แม่น้ำเจ้าพระยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ปัจจุบันมีความคืบหน้าดำเนินการดังนี้ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำจาง จ.ลำปาง ปัจจุบันดำเนินการได้ 54.69% โดยใช้เวลา 100 วัน  

เริ่มขุดลอกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ กม.ที่ 91+050 ถึง กม. 91+850 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 269.00-270.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง), ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ กม.ที่ 88+350 ถึง กม. ที่ 89+660 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 266.50-267.00 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ กม.ที่ 80+200 ถึง กม.ที่ 81+200 ขุดลอกระดับก้นร่องลึกประมาณ 252.00-253.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระยะทางรวม 3,050 เมตร ขุดลอกร่องน้ำให้ได้ความกว้าง 15 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 55,000 ลูกบาศก์เมตร  

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ขณะที่สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 หน่วยปฏิบัติงานขุดลอกฯ ร่องน้ำคลองเสลี่ยงแห้ง จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันดำเนินการได้ 45.50% ใช้เวลา 120 วัน โดยขุดลอกขนาดความกว้างก้นร่องน้ำ 2-40 เมตร ความยาว 1,850 เมตร และระดับความลึกก้นร่องน้ำตามแผนขุดลอก 724 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 50,161 ลูกบาศก์เมตร

และสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 หน่วยปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี ปัจจุบันดำเนินการได้ 53.35% ใช้เวลา 115 วัน โดยเริ่ม กม.ที่ 249+700-กม.ที่ 250+250 ขุดลอกขนาดความกว้างก้นร่องน้ำที่ 15-50 เมตร ระยะทาง 550 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกจำนวน 57000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 30,411 ลูกบาศก์เมตร  

นายวิทยา กล่าวอีกว่า เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีแหล่งต้นทุนน้ำ มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง และสามารถระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ทำให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม สามารถเก็บเกี่ยวสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ให้กับประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามกรมเจ้าท่าหมุนเวียนขุดลอกตามแผนในพื้นที่รับผิดชอบ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ลดอุทกภัยและภัยแล้ง

ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ได้สั่งการสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ เฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อนเจิมปากา โดยเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ห่วงชูชีพ ตรวจเช็คสภาพเรือพระราชทาน รถยนต์ รถยก และติดตามข่าวสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตลอด 24 ชม.