รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้  วันแรกที่หมดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มีความชัดเจนว่า รัฐจะปล่อยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งของอัตราที่ปรับขึ้น ตามมติ ครม.เห็นชอบ แต่จะปรับขึ้นเท่าไรนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจน และจะชี้แจงให้ประชาชนทราบภายใน 2-3 วันนี้ ก่อนมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30  บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดลงวันที่ 30 เม.ย.นี้  

“ปัจจุบันรัฐอุดหนุนราคาดีเซลประมาณ 10.52 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร หลังจากวันที่ 30 เม.ย. ดีเซลในประเทศ ตามนโยบายอุดหนุนคนละครึ่ง ระหว่างรัฐและประชาชน ถ้าตามหลักต้องปรับขึ้นครั้งแรก 35 บาทต่อลิตร มองว่า สูงเกินไป ประชาชนอาจช็อคได้ จึงอาจปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร หรือ 1 บาทต่อลิตร เป็น 31-33 บาทต่อลิตร ทยอยๆขึ้นไม่ปรับขึ้นครั้งเดียวที่ 35 บาทต่อลิตร โดยความถี่อาจจะ 3-4 วันปรับขึ้นครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยตัวแปรหลักขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก แต่หากราคาตลาดโลกขึ้นแล้วลง เราอาจปรับขึ้นไม่เต็มที่หรือไม่ปรับขึ้นก็ได้”  

ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงตลาดดูไบช่วงนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่กว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับกรณีศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หากราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาดีเซลในประเทศจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 3.5% หากกรณีราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 6.2% จีดีพีจะเหลือ 3.2% และกรณีราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 46 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้อ 7.2% จีดีพีจะเหลือ 3%  

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า หากจะให้กองทุนตรึงราคาดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป คงไม่ไหว เพราะล่าสุดวันที่ 24 เม.ย. 65 สถานะกองทุนฯ ติดลบอยู่ 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 31,976 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อแบ่งเบาภาระกองทุนในระดับหนึ่งแต่รัฐก็ยังอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่งของอัตราที่ปรับขึ้น  

“ตอนนี้ต่อให้ดีเซลไม่ปรับขึ้น ราคาวัตถุดิบและสินค้าอื่นก็ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้วอยู่ดี แม้กองทุนจะปรับราคาขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ก็เป็นการทยอยปรับแบบขั้นบันไดโดยยังมีรัฐอุดหนุน เพื่อพยายามดูแลทุกภาคส่วนให้ดีที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่มีรายได้น้อย โดยกองทุนได้มีการหารือกันทุกวันและยืนยันจะพิจารณาจากข้อมูลและความเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ด้านเดียว”