นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควบคุมงานปฏิบัติการและงานปฏิบัติการร้านค้า บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผยว่า เคทีซีได้แนะวิธีคนไทยรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ บนโลกออนไลน์ หลังจากมิจฉาชีพและการทุจริตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น การทุจริตจากคนใกล้ตัว, เว็บไซต์ปลอม, การสุ่มเลขบัตร และโดยเฉพาะการหลอกโอนขอรหัสโอทีพี และหลอกโอนเงิน รวมทั้งจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือแอบอ้างเป็นตำรวจ ไปรษณีย์ เป็นต้น โดยมิจฉาชีพมักส่งคิวอาร์โค้ดปลอมหลอกให้ลูกค้าสแกนทำรายการ ลูกค้าได้รับอีเมลหลอกลวงหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมจากมิจฉาชีพ หลอกให้ทำการอัพเดทข้อมูลบัตรเครดิตและถูกนำไปใช้เข้าระบบและทำรายการธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้คนไทยใช้การเงินออนไลน์มากขึ้น การชำระเงินออนไลน์เฉลี่ยสะสม 9.79% ต่อปี ในช่วงปี 60-64 จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอตด้า) โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านอี-มาร์เก็ตเพลสมากที่สุด ในขณะที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ มากที่สุด สำหรับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. แอพพลิเคชั่นของธนาคาร 2. ชำระเงินปลายทาง 3. ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต 4. โอนหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร และ 5. ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์ม

นายนพรัตน์ สุริยา ผู้จัดการ ควบคุมและป้องกันการทุจริต เคทีซี กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถร่วมป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดยระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมลลวง ทุกธนาคารและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายแจ้งให้ลูกค้าเข้าใช้บัญชีผ่านทางอีเมล, ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ, ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรม ผ่านเอสเอ็มเอส หรือให้อีเมลกับธนาคารและสถาบันการเงิน, ล็อกเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากคิวอาร์โค้ดปลอม ทำได้โดยตรวจสอบความเรียบร้อยสมบูรณ์ถูกต้องของคิวอาร์โค้ดใช้สแกนเนอร์ที่มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชันเตือนเมื่อเป็นคิวอาร์โค้ดปลอม, ระมัดระวังการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ติดตั้งในที่สาธารณะหรือไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวหลังจากสแกนคิวอาร์โค้ด, ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ หลังการสแกนคิวอาร์โค้ด เพราะมิจฉาชีพมักใช้ชื่อคล้ายคลึงกัน, หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอพ จากคิวอาร์โค้ด

นายพันธ์เทพ ชนะศึก ผู้อำนวยการ หน่วยงานควบคุมและป้องกันการทุจริต เคทีซี กล่าวว่า เคทีซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสและติดตามสังเกตการณ์เหตุผิดปกติวิสัย ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตของมิจฉาชีพ เพื่อการป้องปราบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พัฒนาความช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ไปอีกขั้น ด้วยการแจ้งเตือนภัย และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่โทร. 1441