นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. และภาคการขนส่งสาธารณะทั้งหมด จะได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐเตรียมปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 32 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พ.ค. นี้แน่นอน เนื่องจาก บขส. เป็นรถโดยสารที่ให้บริการสาธารณะ เดินรถในเส้นทางระยะไกลและครอบคลุมทุกภูมิภาค ทำให้มีต้นทุนสูง ขณะที่ค่าโดยสารไม่สอดคล้องกับต้นทุนจริง เพราะที่ผ่านมาคิดค่าโดยสารในราคาน้ำมันดีเซล 24 บาทต่อลิตร เมื่อราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 28-29 บาทต่อลิตรในขณะนี้ และ วันที่ 1 เดือน พ.ค.นี้ จะขยับปรับขึ้นราคาเป็น 32 บาทต่อลิตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายเดินรถเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าโดยสารราคาเท่าเดิม

ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือดูแลและสนับสนุน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการรถโดยสารในช่วงที่ปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว ตามความเหมาะสมที่จะกระทำได้ เช่น มีบัตรคูปองส่วนลดราคาน้ำมันดีเซล และเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (Public Service Obligation: PSO) เพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อไป และสามารถตรึงค่าโดยสารได้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารเจ๊งทั้งระบบ ขณะนี้ผู้ประกอบการรถร่วม บขส. หลายรายทยอยเข้ามาสอบถามเรื่องดังกล่าวแล้ว การปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บขส. ยินดีเป็นตัวกลางประสานระหว่างรถร่วม บขส. และ ขบ. ให้ได้

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินรถนั้น ปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารประมาณ 300 กว่าคน ทั้งรถ บขส. และรถเช่า ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่ผ่านมาช่วงผลกระทบโควิด-19 ได้ปรับลดจำนวนรถ และจำนวนเที่ยววิ่งต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน และสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารอยู่แล้ว โดยนำรถให้บริการประมาณ 100 กว่าคันเท่านั้น มีผู้โดยสาร 36,000-37,000 คนต่อวัน

นอกจากนี้ บขส. มีแผนจัดหารถโดยสารไฟฟ้า (อีวี) ขนาดเล็ก 72 คัน และ ขนาดใหญ่ 296 คัน รวมทั้งหมด 368 คัน สัญญาเช่า 7 ปี อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เมื่อแล้วเสร็จ และได้ผู้ชนะ บขส. จะทยอยนำรถโดยสารใหม่เข้ามาให้บริการซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ลดมลพิษทางอากาศ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ หากเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันอยู่ที่ราคา 29 บาทต่อลิตร ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 6 บาท การเปลี่ยนเชื้อเพลิงรถโดยสารประหยัดต้นทุน บขส. ได้ประมาณ 60% จากค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในปี 64 อยู่ที่ 295.539 ล้านบาท ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สะดวก และปลอดภัย