เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รอง ผวจ.ราชบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองบนทางหลวงหมายเลข 4 (สะพานสิริลักขณ์) ของกรมทางหลวง (ทล.) ณ ห้องกัลปพฤกษ์ โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ ราชบุรี จ.ราชบุรี ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings 

เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการทั้งทางด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะรูปแบบการพัฒนาของโครงการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมการประชุม

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอผลสรุปการศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.รูปแบบการก่อสร้างสะพานสิริลักขณ์ จะก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทนสะพานเก่าทั้ง 2 สะพาน ให้มีขนาด 4 ช่องจราจร (ต่อทิศทาง) ทำให้มีช่องจราจรรวมตอนเปิดใช้งาน 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ความกว้างสะพาน 18.50 เมตร ความกว้างของช่องจราจร 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอก 1.50 เมตร และทางเท้าทั้งสองฝั่งขนาด 2.00 เมตร

ซึ่งจะได้โครงสร้างสะพานที่มั่นคงแข็งแรง ทนต่อการใช้งานและมีแนวเส้นทางตรงกับสะพานข้ามทางรถไฟ (ทางแยกโคกหม้อ) ซึ่งสามารถจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างได้ดีกว่ารูปแบบอื่น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทาง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความสูงของช่องลอดกลับรถใต้สะพานให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังสามารถปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณใต้สะพานให้สามารถเป็นสวนสำหรับพักผ่อนและเพิ่มความสวยงามของไฟบริเวณสะพานเพิ่มเติมได้ 

2.รูปแบบโครงสร้างสะพานสิริลักขณ์ จะเป็นแบบสะพานคานยื่นสมดุล (Balance Cantilever Bridge) ซึ่งสามารถใช้วัสดุที่ผลิตได้ภายในประเทศ และมีราคาค่าก่อสร้างไม่สูงมาก ทั้งยังสามารถก่อสร้างสะพานหลายๆ ช่วงได้พร้อมกัน โดยกำหนดช่วงความยาวของสะพาน 100 เมตรต่อด้วยความยาวช่วง 65 เมตร ทั้งสองข้าง และยังเป็นรูปแบบที่สามารถจัดช่องจราจรระหว่างการก่อสร้างได้มากกว่ารูปแบบอื่นด้วยเทคนิคทางหลักวิศวกรรม ทำให้มีผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนน้อยกว่ารูปแบบอื่น 

3.รูปแบบการปรับปรุงสะพานข้ามทางรถไฟ (แยกโคกหม้อ) ปรับปรุงสะพานเดิมโดยทำการขยายสะพานเดิมจาก 2 ช่องจราจร (ต่อทิศทาง) ปรับปรุงเป็น 3 ช่องจราจร (ต่อทิศทาง) ขยายเพิ่มช่องจราจรข้างละ 1 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกขนาด 1 เมตร มีรูปแบบโครงสร้างเป็น สะพานคอนกรีตอัดแรงรูปตัวไอ (I-Girder) และก่อสร้างสะพานลาดเชื่อมทางขึ้น/ลง ต่อกับสะพานสิริลักขณ์ เพื่อให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โครงการฯ ยังให้ความสำคัญในการดำเนินการโดยกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้น้อยที่สุด

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สำนักสำรวจและออกแบบ จะรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 67 แล้วเสร็จภายในปี 70 ใช้ระยะเวลา 3 ปี

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัดในพื้นที่ จ.ราชบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยให้การเดินทางและการขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง โครงสร้างสะพานสิริลักขณ์ มีความมั่นคงแข็งแรง เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง ลดปัญหาคอขวด ซึ่งเป็นสาเหตุการจราจรติดขัดและมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง บริเวณช่วงเชิงลาดสะพานสิริลักขณ์ และเชิงลาดของสะพานข้ามทางแยกโคกหม้อ และส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการและภูมิภาค เช่น อุตสาหกรรม การบริการ การค้า และการท่องเที่ยว เป็นต้น