เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่กรมควบคุมโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พญ.อิซาเบล ออนดิเยอ-เมแยร์ หัวหน้าโครงการวิจัยทางคลินิกด้านเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ ซี องค์กรเพื่อการริเริ่มจัดหายาสำหรับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Diseases initiative, DNDi) รศ.พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (HIV-NAT) และนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการวิจัยยาต้านไวรัสโซฟอสบูเวีย และราวิดาสเวีย (Sofosbuvir+Ravidasvir) สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี”
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ติดต่อทางเลือดและทางเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก คาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 71 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 300,000–700,000 ราย ล่าสุดมียากลุ่มใหม่เป็น Direct Acting Antivirals (DAAs)คือรวมยา 2 ตัวคือ ฟอสบูเวีย และราวิดาสเวีย ซึ่งช่วยรักษาโรคให้หายขาดได้ร้อยละ 90 ใช้เวลาสั้น ผลข้างเคียงน้อย แต่ราคาแพงเฉลี่ย1 คนอยู่ที่ 16,800-48,720 บาท อย่างไรก็ตามจากการศึกษาใน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นครพิงค์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคดังกล่าวร้อยละ 90-100 และจากการที่ไทยเข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ทำให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงยาราคาถูก 10,000 บาท จากปกติ 46,800 บาท อย่างไรก็ตาม ตัวยาราวิดาสเวีย ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย
ด้าน พญ.อิซาเบล กล่าวว่า ในการศึกษาในประเทศไทยและมาเลเซีย ศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2/3 ในรพ. 10 แห่ง ด้วยยาคู่ดังกล่าวเมื่อครบกำหนดแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีที่มีภาวะตับแข็งร้อยละ 96 ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ร้อยละ 97 ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ร้อยละ 96
รศ.พญ.อัญชลี กล่าวว่า ในวันนี้ (7 พ.ค.) คณะศึกษาวิจัยจะมีการหารือกันต่อไปเพื่อศึกษารายละเอียดในการศึกษาขั้นที่ 2 เน้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ที่ 6 กลุ่มตัวอย่าง 300 คน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในเมืองไทย แต่การศึกษาครั้งแรกมีกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อสายพันธุ์ที่ 6 ไม่มากพอ โดยจะเร่งศึกษาให้เร็วที่สุดหากพบว่าได้ผลดีจะเท่ากับว่ายาคู่ใหม่นี้มีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีที่มีประสิทธิภาพทุกสายพันธุ์ เวลารักษาจะได้ไม่ต้องเสียเวลา เสียงบฯ ในการตรวจสายพันธุ์ก่อนการให้ยา
ด้าน นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยยังเข้าถึงสิทธิในการคัดกรองและรักษาจำนวนมากเพราะอย่างสิทธิบัตรทองจัดงบฯ ล่าสุด 70 ล้านบาท เพื่อการคัดกรอง แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ คนติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด เป็นต้น และยังมีข้อแม้อีกว่าหากตรวจแล้วไม่เข้าตามเกณฑ์ก็ไม่จ่ายค่าตรวจให้ดังนั้นเลยไม่มีใครอยากที่จะมาตรวจ ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการรักษาซึ่งที่เป็นเช่นนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งมาจากยาที่ใช้ปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพ.