นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้อยู่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ภาคเอกชนยังเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้เกิดขึ้นเป็นไปตามแผน เบื้องต้นคาดว่า ปีนี้จะมีการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 149,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร สร้างงานและรายได้ให้คนในพื้นที่ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในอาเซียน ภายในปี 70 เช่น โครงการสำคัญ นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล ร่วมลงทุนกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด จากสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติก แอซิด กำลังการผลิตถึงประมาณ 75,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ของบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ที่ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 57,600 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์, โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด ที่จังหวัดลพบุรี มูลค่าลงทุน 32,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมไบโออีโคโดมี ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ จากกากน้ำตาล โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ของบริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด มูลค่าลงทุน 8,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงานอีไอเอ

ทั้งนี้ สศอ. และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต เพื่อให้ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่า มีตลาดรองรับเพียงพอแน่นอน และจูงใจให้ห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด โดยช่วงปี 62-ก.ค. 64 สศอ.ได้ออกใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 48 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตรวม 4 ราย