เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาของอนุ กมธ.ในส่วนของกระทรวงกลาโหม ว่า ตอนนี้พิจารณาเกือบหมดแล้วเหลือแต่กองทัพเรือ โดยภาพรวมปรับลด 1,630 ล้านบาท โดยเห็นว่างบประมาณครุภัณฑ์ของกระทรวงกลาโหม สามารถปรับลดลงได้อีก ด้วยเห็นว่ายังมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ราคาสูงเกินจริง ซึ่งการพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับรายการจัดซื้อครุภัณฑ์ยังไม่มีเวลาตรวจสอบที่เพียงพอ เนื่องจากมีระยะเวลาสั้น เพราะหน่วยงานนำเอกสารให้กรรมาธิการพิจารณา ล่าช้า ขณะที่กรรมาธิการก็พยายามรวบรัดการพิจารณางบประมาณ โดยทำการตัดลดงบประมาณและผ่านความเห็นชอบไปอย่างรวดเร็ว 

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการตัดลดงบประมาณของกองทัพบก 1,100 ล้านบาท ส่วนตัวยังเห็นว่ามีรายการที่จะสามารถตัดได้อีก เช่นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ปี 2565 เช่น เฮลิคอปเตอร์ ที่ของบประมาณ 700 ล้านบาท หัวลากรถ รวมแล้วประมาณเกือบ 881 ล้านบาท ซึ่งหากกรรมาธิการอนุมัติเห็นชอบก็จะทำให้ต้องจ่ายงบประมาณผูกพันในปีถัดไปอีก 1,700 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่กว่าปีนี้

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณของกองทัพอากาศที่มีการปรับลดไป 510 ล้านบาท โดยการจัดซื้อปีนี้ไม่มีการซื้อยุทโธปกรณ์ใหญ่ แต่เป็นงบผูกพันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ส่วนปี 2564 ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ เช่นโครงการพัฒนาระบบสื่อสาร ที่มีการแก้ไขรายละเอียดในทีโออาร์ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ส่วนตัวเห็นว่าสามารถเลื่อนออกไปก่อน ทั้งนี้ในส่วนของรายละเอียดในเรื่องของข้อสังเกตในการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ ตนจะรวบรวมเพื่อนำไปอภิปรายในวาระ 2 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อแฉให้เห็นว่า ยังมีโครงการอะไรที่สามารถปรับลดได้อีก เพราะไม่จำเป็นในสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันตนยังเห็นว่าการตั้งงบประมาณของกองบัญชาการกองทัพไทยในการปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ชี้แจงรายละเอียดไม่ครบถ้วน เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน  และยังเห็นว่ามีการจ้างที่ปรึกษาในวงเงินงบประมาณที่สูงกว่าหลักเกณฑ์ ในท้ายที่สุดหน่วยงานอ้างเรื่องความมั่นคงและเรียกเก็บเอกสารคืน 

“รอบนี้เป็นเรื่องตลก เพราะรายการจัดซื้อของกองทัพบก ชุดแต่งกายของทหารเกณฑ์ไม่ปรากฏในเอกสารรายการจัดซื้อครุภัณฑ์ ยังหาไม่เจอว่าซ่อนอยู่ที่ไหนหรือว่าเลิกซื้อแล้ว” นายพิจารณ์  กล่าว