โดยเฉพาะกระแส ทั้งนี้ กระแส “ปรับ ครม.” มีข่าวว่า “เพื่อไทย” ต้องการแลกกระทรวงกับ “ภูมิใจไทย” ระหว่าง “กระทรวงมหาดไทย” กับ “กระทรวงสาธารณสุข” รวมถึงต้องการกระทรวงแรงงานด้วย

แต่กระแสปรับ ครม.มีออกมาเป็นระลอกโดยเฉพาะการปรับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค“ จากกระทรวงพลังงาน แต่มีการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการปรับออก ล่าสุดมีกระแสเปลี่ยนมาเป็นโยกสลับไปคุมกระทรวงยุติธรรมแทน ขณะที่ในฝั่งของเพื่อไทยเองมีกระแสการเปลี่ยนตัว “พิชัย นริพทะพันธุ์“ รมว.พาณิชย์ หลุดออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ที่น่าจับตาคือกระแสข่าวเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ที่มีกระแสข่าวว่า “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์พรรคกล้าธรรม จะคัมแบ็กตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ แทน “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ที่จะโยกไปนั่งเก้าอี้ รมช.คลัง แทน

ไม่แปลกใจแสข่าวปรับ ครม.เกิดขึ้นก่อนศึกซักฟอกทุกรัฐบาล เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศไปได้ 4-6 เดือนรัฐบาลจะมีการปรับ ครม.โดย “รัฐบาลแพทองธาร” เรียกรัฐมนตรีทุกกระทรวงตรวจการบ้านทุกเดือนและในช่วงกลางปีจะมีการปรับ ครม. เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลชุดนี้เป็น “รัฐบาลพ่อเลี้ยง” ฉะนั้นถึงเวลา “นายใหญ่ทักษิณ” เคลียร์ปรับ ครม.แน่นอน แต่จะปรับเล็กหรือปรับใหญ่คงต้องลุ้นกันอีกครั้ง

แน่นอนว่างานนี้ “พ่อเลี้ยงทักษิณ” รีบออกตัวปฏิเสธทันทีว่า ยังไม่ถึงเวลา ทุกคนยังทำงานกันได้ด้วยดี มีติดขัดเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังเตือนกัน ให้คำแนะนำกันได้ ยังไม่มีปัญหาอะไร ปรับต้องดูจังหวะ ไม่ใช่แค่ปรับแค่คนหรือ 2 คน ตอกย้ำด้วยเสียงหนักแน่นของ “นายกฯอิ๊งค์” ระบุว่า “ไม่ปรับ ข่าวแบบนี้ออกมาถ้าดิฉันเป็นรัฐมนตรีจะรู้สึกว่าเอ๊ะเราจะโดนปรับหรือเปล่า มันสร้างความสั่นคลอนโดยไม่จำเป็น ไม่ได้จะปรับ และจริงๆ ถ้าจะปรับคงต้องมีการพูดคุยในเนื้องานก่อน การจะบอกว่าปรับ ครม.หรือไม่ ดิฉันจะเป็นคนตอบเอง คนอื่นตอบมันไม่ใช่คำตอบ”

ฟันธงทั้ง “พ่อ-ลูก” ยืนยันไม่มีการปรับ ครม. แต่หากพิจารณาดูถือว่ายังเร็วเกินไป วิเคราะห์กันหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อเห็นว่ารัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ระยะหนึ่งแล้วผลงานอาจไม่เข้าตา ก็ควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารกระทรวงนั้นๆใหม่ แต่ในทางการเมือง เหตุผลของการปรับ ครม. มีมากกว่านั้น อาจเป็นเสถียรภาพทางการเมืองทำให้รัฐบาลอยู่ครบอายุ 4 ปี หรือเพื่อให้รางวัลกับคนที่ภักดี เครือข่ายนายทุนพรรค และเพื่อคงเสถียรภาพการต่อรองทางอำนาจ ทั้งในพรรคและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล  

หลังจากนี้คงต้องรอดูการบริหารคณะรัฐมนตรีของ “แพทองธาร ชินวัตร” ว่าจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ยี่ห้อ “นายใหญ่” เขี้ยวการเมืองลากดิน หากต้องการลดแรงต่อรอง มักจะมียุทธศาสตร์ คิดคำนวณรอบด้านเอาไว้ก่อนดังนั้นการปรับ ครม.ในแต่ละครั้ง จึงอยู่ที่ใครจะมีแต้มต่อเอาไว้ต่อ-เอาไว้รองมากน้อยกว่ากันแต่ภาพรวมการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ที่ขั้วอำนาจเดิม ด้วยระบบที่ “เพื่อไทย” ออกแบบและบริหารเอง.