เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำนางพัชรี ปั้นทอง มารดาของ น.ส.พลอยนรินทร์ ปั้นทอง ซึ่งถูกทหารยศสิบเอก ฆ่าเผานั่งยางที่ จ.สระบุรี เมื่อ 5 ปีที่แล้วจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 33 ปี 11 เดือน แต่ล่าสุดจะได้รับการพักโทษในปี 2565 ทำให้ถูกจำคุกเพียง 4 ปี 6 เดือน มายื่นคำร้องถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยธ. เพื่อให้ขอทบทวนการพักโทษดังกล่าว โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยธ. รับหนังสือร้องเรียน

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้นำแม่ของน้องพลอยมายื่นหนังสือถึง รมว.ยธ. เพื่อร้องขอให้ตั้งกรรมการสอบอธิบดีกรมคุมประพฤติกับพวก (ไม่เกี่ยวข้องกับกรมคุมประพฤติลพบุรี) และผู้บัญชาการเรือนจำบางขวางกับพวก กรณีที่พิจารณาเสนอกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ให้มีการพักโทษในโครงการคืนคนดีสู่สังคม โดยอาจจะมีการไม่โปร่งใสในการพิจารณาเลื่อนชั้น และขอให้ยกเลิกการพักโทษของนักโทษคนดังกล่าว

เนื่องจากคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดจำคุก 33 ปี 11 เดือน ชดใช้ค่าเสียหาย 1.5 ล้านบาท แต่ผู้ต้องขังกลับได้รับการอภัยโทษหลายครั้งทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยล่าสุดจะได้รับการพักโทษในปี 2565 ทำให้ถูกจำคุกเพียง 4 ปี 6 เดือน เรื่องนี้จึงมีความผิดปกติในการเลื่อชั้นผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้ต้องขังเข้าไปแล้วได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้คุมเรือนจำกลางบางขวาง และเป็นคดีที่โหดเหี้ยมน่าจะได้รับการลดชั้น และเพิ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดเมื่อปี 2563 จึงเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในเรื่องดังกล่าว จึงมายื่นหนังสือร้องเรียน

นางพัชรี กล่าวว่า ตนทราบข่าวลูกถูกทำร้ายเสียชีวิตในวันแม่ ปี 2560 กว่าคดีจะถึงที่สุดใช้เวลาต่อสู้ 4 ปี แต่มาทราบว่าในปีนี้ผู้กระทำผิดจะได้รับการพักโทษ ความรู้สึกเจ็บปวดที่สูญเสียลูกยังไม่หาย อีกทั้งหลังเกิดเหตุก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากผู้ก่อเหตุ ตอนนี้ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยหากมีการปล่อยตัวออกมา ตนก็หวังจะได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า จะสั่งการให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่ได้รับการลดโทษ และจะตรวจสอบประวัติผู้ต้องขังรายดังกล่าว ตั้งแต่ถูกส่งตัวเข้ามาคุมขังในเรือนจำ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ในการพักโทษ ผู้ต้องขังจะต้องมีการเยียวยาให้ผู้เสียหาย แต่กรณีนี้ทราบว่าผู้เสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยา อีกทั้งมายื่นร้องคัดค้านการพักโทษ ดังนั้นจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษ แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องตรวจสอบตามคำร้องที่ผู้เสียหายยื่นเข้ามา