สืบเนื่องจากผู้นำศาสนาได้มีการประชุม (ซูรอ) หารือแนวทางการปลูกฝังยะกีน ที่เกิดจากการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดเป็นรูปธรรม โดยมีความเชื่อและความเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงกำหนดสถานการณ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่มั่นคงแข็งแกร่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนภายใต้หลักศาสนาที่ถูกต้องและยั่งยืนมั่นคงทางสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงร่วมกันจัดทำยะกีนฉบับชาวบ้าน (กีตาบเล็ก) เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภ.4 พร้อมด้วยนายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาฯ ศอ.บต. เป็นผู้แทนรับมอบ “ยะกีน”ฉบับชาวบ้าน (กีตาบเล็ก) ภายใต้กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการรวมพลังผู้นำรวมใจสู่สันติสุขสู่ชุมชนมั่นคงปลอดยาเสพติด จากผู้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 องค์กรด้านศาสนาอิสลาม

ประกอบด้วย ดร.ดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีและประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี, นายศักดิ์กียา บินแลละ ประธานกก.อิสลามประจำจ.สงขลา และประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 14 จังหวัดภาคใต้, นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานกก.อิสลามประจำจ.นราธิวาส, นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ ประธานกก.อิสลามประจำจ.ยะลา, นายยำอาด ลิงาลาห์ ประธานกก.อิสลามประจำจ.สตูล, นายมูฮมัดซูวรี สาแล นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ จชต., ดร.อับดุลมุไฮมีน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จว.ชายแดนภาคใต้, นายอับดุลฮาฟิซ หิเล ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จว.ชายแดนภาคใต้ และดร. มูหมัดกราแม แวมูซอ รองประธานสภาอูลามาอฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ เพื่อเป็นผู้แทนส่งต่อให้กับส่วนราชการ นำไปมอบให้ผู้นำศาส นา และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.ไพศาล กล่าวว่า กล่าว แนวทางการขับเคลื่อน “ยะกีน” หรือมอบกีตาบเล็ก มุ่งหวังให้ยะกีนอยู่ในใจของทุกคน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในคำสอนตามหลักศาสนา และยังเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนกิจกรรมฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่เกิดจากความร่วมมือของผู้นำศาสนาผู้นำท้องที่ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกัน เพราะปัญหาใน หมู่บ้าน ชุมชน คืออะไรทุกคนจะได้ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน หากทุกคนร่วมมือกัน ก็จะเป็นผู้นำท้องที่ท้องถิ่นผู้นำศาสนาประชาชนและภาครัฐหนุนเสริมเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ก็จะเกิดความสำเร็จตามที่ได้คาดหวังไว้ คือเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน ลูกหลานประชาชนมีอนาคตที่ดีและการแก้ปัญหาต่างๆจะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน

ด้านนายนันทพงศ์ รองเลขาฯ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนา ซึ่งได้รวมพลังทุกส่วนราชการ และทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายของผู้นำศาสนา และผู้แทนภาคประชาชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมดเป็นพลังร่วมในการทำงานโดยใช้ยะกีนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาที่เราเจอกันเฉพาะหน้าคือเรื่องยาเสพติด เราจะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือความสงบสุขในพื้นที่

ขณะที่ดร.ดือราแม ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีและประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ความสำคัญของ ยะกีน (กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน) ในศาสนาอิสลามได้กำหนดว่า ทำอะไรยะกีน ต้องมั่นใจเพื่อให้งานต่างๆเรียบร้อย เช่นเดียวกับแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ยะกีนต้องอยู่ในใจ และทั้งพูดและการกระทำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การจะสร้างยะกีน ต้อง ดูที่การปฏิบัติต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อกำหนดใน หลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ควบคู่กันไปด้วยโดยจะมีคู่มือ (กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน) นำไปศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับแนวทางศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา เช่นเดี่ยวกับยะกีน ต้องเข้าใจ ศึกษาให้เข้าถึงในรายละเอียดจะได้เกิดการพัฒนาในทุกด้านทุกมิติตามที่หลักฮูกุมปากัต(ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ยะกีน พี่ได้มีการร่างและทำเป็นคู่มือ หรือ(กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน)

สำหรับคำว่า “ยะกีน” หมายถึง ความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความศรัทธา (อีมาน) และเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งอิสลาม เมื่อเรามีความศรัทธาที่แน่วแน่ เราจะสามารถเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิตได้โดยไม่หวั่นไหว และสามารถนำพาครอบครัว ชุมชน และสังคมของเราให้ก้าวไปสู่ความสงบสุข การจัดงานในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ศาสนา หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกสมาคมกำนัน ผู้แทนภาค ประชาชน หรือพี่น้องมุสลิมทุกท่าน ต่างมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และขยายผล “ยะกีนฉบับ ชาวบ้าน (กีตาบเล็ก)” ให้เข้าถึงทุกครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อทุกบ้านมียะกีน ครอบครัวของเราจะมั่นคง เมื่อครอบครัวมียะกีน ชุมชนของเราจะเข้มแข็ง เมื่อชุมชนมียะกีน สังคมของเราก็จะสงบสุข.