เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานผลการวิเคราะห์เจาะลึกความร่วมมือการทำโพลครั้งสำคัญของสองสื่อยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66” ซึ่งดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 รอบตามที่เสนอข่าวก่อนหน้านี้ตามลำดับ สำหรับพันธมิตรทางวิชาการที่เข้ามาร่วมวิเคราะห์ผลโพลสะท้อนอนาคตการเมืองไทยดังกล่าว คือ คณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ นายปรีชา โพธิ รองคณบดีฯ และนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี ในฐานะหัวหน้าทีมวิเคราะห์ผลโพล

รายงานการสรุปผลและวิเคราะห์ โพลเลือกตั้ง เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2 สำรวจระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2566 เป็นเวลา 7 วันโดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กระบวนการโหวตเป็นวิธี “โหวตผ่านช่องทางออนไลน์” (เว็บไซต์) ซึ่งมีประชาชน บุคคลผู้มีชื่อเสียง ดารานักแสดง และผู้สนใจการเมืองจากหลากหลายวงการ เข้ามาตอบแบบสอบถามอย่างกว้างขวางทั้งสิ้น 78,583 ราย ในจำนวนนี้มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมโหวตด้วย อาทิ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล, นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย

ในส่วนของ “หัวข้อคำถาม” มีทั้งหมด 4 ข้อ คือ เลือก ส.ส.เขตจากพรรคใด? เลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคใด? สนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี? และ ส.ว.ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคใด? ทั้งนี้ ผู้โหวตไม่ต้องระบุชื่อตนเอง แต่ต้องตอบข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ ภูมิลำเนา เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั้งนี้ โพลครั้งที่ 2 เพิ่มเติมตัวเลือกด้านอาชีพ ได้แก่ เกษตรกร และ รับจ้างทั่วไป

Gen-X” ร่วมโหวตโพลฯมากสุด

ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ทีมนักวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ​ ได้อ่านผลตามข้อมูลจากตัวเลขตาม “ผลโพล” เท่านั้น โปรดทราบว่าผลของโพลนี้ไม่ได้มาจากการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง (Sample) ตามหลักการของการทำวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ทั่วไป แต่มาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความตื่นตัวทางการเมือง (Active Citizen) และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนปริมาณของกลุ่มตัวอย่างที่เดลินิวส์และมติชนได้มา มีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 0.35% (ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 3%) และมีระดับความเชื่อมั่น (Confidence Level) อยู่ที่ 95%

การโหวต เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2″ จำนวน 78,583 ราย ในส่วนของช่วงอายุ พบว่า กลุ่ม Gen-X หรือ 42-57 ปี มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ ร้อยละ 31.48, อันดับ 2 กลุ่ม Gen-Y หรือ 26-41 ปี อยู่ที่ ร้อยละ 29.85, อันดับ 3 กลุ่ม Baby Boomers หรือ 58-76 ปี ร้อยละ 22.48, อันดับ 4 กลุ่ม Gen-Z หรือ 18-25 ปี ร้อยละ 15.38 และอันดับ 5 กลุ่ม Silent Gen หรือ อายุ 77 ปีขึ้นไป ร้อยละ 0.81

ทั้งนี้ “เพศชาย” ยังคงมีสัดส่วนมากกว่าเพศอื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกเฉพาะโพลครั้งที่ 2 นี้พบว่า “เพศหญิง” มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นจากรอบแรก จากจำนวน 29.71% เพิ่มเป็น 34.62% ในมิติของอายุ Generation X (42-57 ปี) มีมากที่สุด คือ 31.48% และครึ่งหนึ่งมีการศึกษาในระดับปริญญาตรี นอกจากนั้น ในโพลครั้งที่ 1 กลุ่มข้าราชการมีส่วนร่วมมากที่สุด คิดเป็น 24.27% แต่โพลครั้งที่ 2 กลุ่มพนักงานบริษัท มีมากที่สุดถึง 25.01% รวมทั้งเกษตรกร 3.95% และรับจ้างทั่วไป 7.57% ในมิติของระดับรายได้มีสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยกลุ่มรายได้สูงคือ 50,001 บาทขึ้นไป มีมากสุดที่ 23.74%

สำหรับหัวข้อคำถามที่ว่า “ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี?” ผลโพลของคนกรุงเทพฯ โหวตให้ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 52.00% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยได้ 28.48% หรือเกือบสองเท่า, 2.นายเศรษฐา ทวีสิน จากเดิมอยู่อันดับ 4 ที่ 16.10% เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แต่สัดส่วนลดลงเป็น 15.65%, 3.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากเดิมอยู่อันดับ 2 ที่ 20.01% ลดลงไปอยู่อันดับ 3 ที่ 13.37% ในขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากเดิมเคยเป็นอันดับ 3 ที่ 18.04% ตกไปอยู่อันดับ 4 ที่ 8.03% ความน่าสนใจ คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอันดับเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่อันดับ 10 ที่ 1.13% เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 6 ที่ 2.37% หรือ เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว

4ภาคเทใจให้“พิธา”นั่งนายกฯ

ผลโหวตนายกรัฐมนตรีของคนต่างจังหวัด คือ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 48.09% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยได้ 30.33% 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลดลงจากเดิม 26.38% เป็น 21.96% 3.นายเศรษฐา ทวีสิน ลดลงจากเดิม 17.27% เป็น 15.50% ในส่วนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่อันดับ 4 ที่ 5.95% และอันดับ 5 ที่ 2.35% ตามลำดับ แต่หากแยกพิจารณาเป็นรายภาค คือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน พบว่าอันดับ 1 ของทุกภูมิภาคคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามมาด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อันดับ 2 และ นายเศรษฐา ทวีสิน อันดับ 3 ยกเว้นภาคใต้ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นอันดับ 3 ที่ 11.16% มากกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้อันดับ 4 ที่ 7.40%

สำหรับ ส.ส.เขต 3 อันดับแรกของคนกรุงเทพฯ ได้แก่ พรรคก้าวไกล 51.71% พรรคเพื่อไทย 29.30% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 7.28% โดยสัดส่วนของ ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล มีมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เขตจากทุกพรรครวมกัน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นสนามเลือกตั้งของ 3 พรรคใหญ่ดังกล่าว แต่หากนำสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มารวมกันจะมีสูงถึง 81.01% เช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดโหวตให้ ส.ส.เขต 3 อันดับแรก ได้แก่ พรรคก้าวไกล 46.55% พรรคเพื่อไทย 38.26% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 5.17% โดยสัดส่วน ส.ส.เขตของสองพรรคแรกรวมกันจะมีมากถึง 84.81% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่ากังวลสำหรับ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” เช่นเดียวกับผลโพลในส่วนปาร์ตี้ลิสต์พรรคการเมืองของทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นไปในทางเดียวกัน คือ 1.พรรคก้าวไกล 2.พรรคเพื่อไทย และ 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งนี้ ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอันดับ 1 และ 2 ในกรุงเทพฯ รวมกันแล้วอยู่ที่ 80.77% และ ในต่างจังหวัดรวมกันแล้วอยู่ที่ 85.16%

“เพื่อไทย”ยังครองใจกลุ่มเกษตรกร

“หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคกลาง และ ภาคใต้ ในขณะที่ ส.ส.เขตพรรคเพื่อไทย มีสัดส่วนมากที่สุดในภาคเหนือและภาคอีสาน ตามมาด้วย ส.ส.เขตพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่อันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค แต่หากดูผลโพลในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ จะพบว่า พรรคก้าวไกลมีสัดส่วนมากที่สุดในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสานที่ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนมากที่สุด และปาร์ตี้ลิสต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นอันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ทีมนักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตต่อความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีเพียง 6.01% จากผลโพลครั้งที่ 1 และผลโพลครั้งที่ 2 นี้แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้มีสัดส่วนลดลง คือ ส.ส.เขต 4.24% และ ปาร์ตี้ลิสต์ 3.25% ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนรวมของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (ส.ส.เขต 5.88% และ ปาร์ตี้ลิสต์ 9.05%) และ พรรคพลังประชารัฐ (ส.ส.เขต 2.64% และ ปาร์ตี้ลิสต์ 5.42%) หรือ ห่างกันมากกว่า 3 เท่าตัว” ผลวิเคราะห์โดยนักวิชาการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ ระบุ

นักวิชาการชี้ด้วยว่า ความน่าสนใจของโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง 66 ครั้งที่ 2” ก็คือ กลุ่มเกษตรกรโหวตให้ทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 45.48% และ 43.51% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มรับจ้างทั่วไปโหวตให้ ส.ส.เขตพรรคก้าวไกล 40.28% และปาร์ตี้ลิสต์พรรคก้าวไกล 42.13% ทางด้านท่านสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใด กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างทั่วไปโหวตให้ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ 3.นายเศรษฐา ทวีสิน ในขณะที่กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจโหวตให้ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 41.55% 2.นายเศรษฐา ทวีสิน 20.24% 3.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 20.21% และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่อันดับ 4 ที่ 7.60% ลดลงจากเดิมอันดับ 3 ที่ 17.87% ตอกย้ำว่ากลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องการความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่

โพลครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทุกกลุ่มรายได้โหวตให้ ส.ส.เขต และ ปาร์ตี้ลิสต์ จากพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย โดยมีสัดส่วนรวมกันแล้วมากกว่า 80% ของทุกกลุ่มตัวอย่าง และโหวตให้ นายพิธา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด 3 ลำดับแรก แสดงถึงความนิยมต่อนโยบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของทั้งสองพรรคนี้

เพื่อไทย-ก้าวไกล”จับมือแลนสไลด์ได้

โดยสรุปแล้ว “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2” แสดงให้เห็นทิศทางการเมืองที่มีต่อ ส.ส.เขตจาก “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีสัดส่วนรวมกันที่ 83.75% เปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส.เขตจาก “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 10.64% หรือ ห่างกันถึงเกือบ 8 เท่าตัว และประชาชนที่ร่วมตอบแบบสอบถามเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจเข้ามาโหวต เพื่อแสดงความต้องการของตน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับปาร์ตี้ลิสต์ของ “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” ที่มีสัดส่วนรวมกันที่ 84.95% จากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเสรีรวมไทย ในขณะที่ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” มีสัดส่วนที่ 10.26% จากพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย และหากจะทดลองแปลงตัวเลขเหล่านี้เป็นสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต จะพบว่า “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” จะได้ ส.ส.เขต 335 คน และ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” จะได้ ส.ส.เขต 42 คน จากทั้งหมด 400 คน ส่วนที่เหลืออีก 23 คน เป็นสัดส่วนของพรรคอื่นๆ และผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ หากคำนวณสัดส่วนของปาร์ตี้ลิสต์จะพบว่า “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” จะได้มากถึง 84 ที่นั่ง จาก 100 ที่นั่ง

“กล่าวโดยสรุปแล้วหากผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นไปตามผลโพล เดลินิวส์ X มติชน ก็จะทำให้ “พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม” และพรรคอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะได้ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรรวมกันแบบแลนสไลด์ เป็นไปตามคำถามข้อที่ 4 ของผลโพล 82.54% ที่ต้องการให้ 250 ส.ว. โหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด ตามเจตจำนงของประชาชนต่อไป” รายงาน ระบุ

นอกจากนั้น นักวิชาการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ ยังได้วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่ร่วมโหวต เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ทั้งสองรอบ รวมกันแล้ว 162,659 โหวต และพบสถิติสำคัญระหว่างโพลครั้งที่ 1 และโพลครั้งที่ 2 ดังนี้

– ผลโพลรอบ 2 ต้องแยกอธิบายกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจน ระหว่าง กทม. กับ ตจว. เนื่องจากสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่ร่วมตอบแบบสอบถามในครั้งนี้มีจำนวนต่างกันมากเกือบสามเท่าตัว

– เพศชายมีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถามมากกว่าเพศอื่น ครั้งที่ 1 มี 67.15% ครั้งที่ 2 มี 62.57% ยังคงมากที่สุด (มากกว่า 3 ใน 5 คน) โดยการทำโพลครั้งที่ 2 พบว่า เพศหญิงมีส่วนร่วมมากขึ้นจาก 29.71% เป็น 34.62% และ ผู้ไม่ระบุเพศเพศยังคงมีส่วนร่วมในจำนวนที่มากขึ้นเล็กน้อย คือ จาก 2.40% เป็น 2.81%

– Generation X (42-57 ปี) มีส่วนร่วมมากที่สุดในการทำโพลออนไลน์ กล่าวคือ ครั้งที่ 1 มี 34.82% และครั้งที่ 2 มี 31.48% หรือเกือบ 2 ใน 5 คน นั่นเอง

– ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างผู้ทำโพลออนไลน์มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งครั้งที่ 1 และ 2 คือ 49.51% และ 51.09% ตามลำดับ

– ในการทำสำรวจครั้งที่ 1 นั้น ข้าราชการมีส่วนร่วมมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 24.27 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม แต่ในครั้งที่ 2 นี้ผู้เข้ามาตอบแบบสำรวจมากที่สุดกลายเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทมากถึง 25.01% และยังมี เกษตรกร 3.95% และรับจ้างทั่วไป 7.57%

– ผู้ที่มีรายได้สูงคือ 50,001 บาทขึ้นไป ยังคงเป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในการสำรวจครั้งนี้ หรือคิดเป็น 23.74% เท่าๆ กับครั้งที่ 1 คือ 25.63% หรือ มากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด โดยกลุ่มรายได้กลุ่มอื่นๆ มีจำนวนเท่าๆ กันคือ 18.54%, 20.83%, 17.40% และ 19.49% ตามลำดับ

ห้ามพลาด“5พ.ค.”วิเคราะห์โพลทั้ง2รอบ

ทั้งนี้ การโหวตโพล “เดลินิวส์Xมติชน เลือกตั้ง ’66” กอง บก.เดลินิวส์ และสื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี ร่วมกับตัวแทนอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ จะร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพลทั้งสองรอบ ที่อาคารสำนักงานมติชน ย่านประชานิเวศน์ กทม. พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสื่อทั้งสองเครือต่อไป ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันศุกร์ที่ 5 พ.ค. 2566