ทำเอาสังคมไทยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ภายหลังกลับปรากฏว่า ส.ว. บางท่าน ได้เน้นย้ำว่า ต้องมีการรวมเสียงโหวตถึง 376 เสียง เพื่อที่ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีได้ จนภายหลังได้เปิดกระแสโซเชียล ที่ต่างติดแฮชแท็ก “#สวมีไว้ทำไม” จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ประเทศไทยมาแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. บล็อกเกอร์ชื่อดังด้านการคำนวณภาษี ที่มีผู้ติดตามแฟนเพจกว่า 6.1 แสนคน อย่าง “TaxBugnoms” ได้ออกมาโพสต์ระบุว่า “รู้หรือไม่ ผู้ช่วย ส.ว. ไม่ต้องเสียภาษี (ถ้ามีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียว)” นอกจากเงินเดือนและเงินเพิ่มที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้รับแล้วนั้น ส.ว. แต่ละท่าน ยังมีสิทธิในการแต่งตั้งคณะทำงานของตัวเองมาช่วยงานได้อีก 8 ท่าน
โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ครับ …
1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท/คน
2. ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือน 15,000 บาท/คน
3. ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว 5 คน เงินเดือน 15,000 บาท/คน
อ้างอิง https://bit.ly/3MymVAU ตามข้อ 3 (2) (4) และ (6)
หากคณะทำงานทั้งหมดที่ว่ามานั้น มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียว เมื่อลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็จะพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีครับ เพราะคำนวณออกมาแล้ว มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จึงได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับ
โดยเงินได้สุทธิ คำนวณจาก เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
เงินได้ = เงินเดือนรวมทั้งปี
ค่าใช้จ่าย = หักได้สูงสุด 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนส่วนตัว = 60,000 บาท
ดังนั้นคณะทำงานของ ส.ว. อาจไม่จำเป็นต้องวางแผนภาษีเพิ่มเติม เพราะเงินได้ยังไม่ต้องเสียภาษีนั่นเองครับ ซึ่งแตกต่างจาก สว. ที่มีเงินได้ส่วนนี้สูงกว่าครับ
อย่างไรก็ดี อันนี้เป็นความรู้เพิ่มเติมครับ เงินเดือน ส.ว. ทั้งปี = 1,362,720 บาท หากมีการจ้างคณะทำงานครบ 8 คน รวมเงินเดือนของผู้ช่วยทั้งปี = 1,548,000 บาท “ต้นทุนภาษีที่ใช้ไปต่อ ส.ว. และคณะทำงานคือ 2,910,720 บาท ต่อ ส.ว. 1 ท่าน ถ้าคิดรวมทั้งหมด 250 ท่าน รวมคณะ ก็จะเป็น 727,680,000 บาทต่อปีครับ ซึ่งเงินตรงนี้มาจากภาษีที่ประชาชนเสียไปครับ”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของทาง ilaw พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลาสามปีที่ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คน เข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา มีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วอย่างน้อย 2,230,569,000 บาท..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @TaxBugnoms