เช่นเหตุสลดกับ เด็กหญิงวัย 14 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย สันนิษฐานปมเหตุส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพทางการเงินที่ไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อ และการได้รับคำปรึกษาที่กลายเป็นเครื่องตอกย้ำที่ไร้หนทางแก้ จนนำไปสู่ปลายทางที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับช่วงวัยแห่งการ “เริ่มต้น” มากกว่า “สิ้นสุด”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากปมปัญหาด้านการศึกษา ยังสะท้อนความสนใจถึงสถานการณ์ “ฆ่าตัวตาย” ของเด็ก ควรเพิ่มการเฝ้าระวังผลกระทบต่อเนื่องมากขึ้นไม่ต่างจากวัยผู้ใหญ่ เพราะต้องยอมรับว่าทุกปัญหาของครอบครัวและสังคม

ผลลัพธ์ไม่มาก ก็น้อยปรากฏในเด็กแน่นอน…

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ (ข้อมูล ธ.ค.2564) มีจำนวน 20,335,140 คน หรือคิดเป็นเป็นร้อยละ  30.73 ของประชากร แบ่งเป็น เด็ก (0-17 ปี) จำนวน 13,346,503 คน เยาวชน จำนวน 6,988,637 คน

จากรายงาน สถานการณ์เด็กและเยาวชนรายไตรมาส ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกี่ยวกับที่ปรากฏจากสื่อ น่าตกใจที่พบว่าการฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในปัญหาอันดับต้นๆ ที่เกิดขึ้นกับวัยดังกล่าว ยกตัวอย่าง เฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2565

ไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค.2564)

ต.ค.2564 พบ 4 กรณี, พ.ย.2564 พบ 4 กรณี, ธ.ค.2564 พบ 3 กรณี

ไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค.2565)

ม.ค.2565 พบ 3 กรณี, ก.พ.2565 พบ 1 กรณี,  มี.ค.2565 พบ 5 กรณี

สถานการณ์ล่าสุดตามรายงานสะท้อนว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา สรุปได้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตาย ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอันดับต้นๆ รองจากกรณีถูกทำร้ายร่างกาย

ขณะที่หากย้อนดูอัตราการฆ่าตัวตายภาพรวมทั่วประเทศ แม้กลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงานอายุ 30-39 ปี รองลงมาคือ 40-49 ปี ตามด้วย 20-29 ปี และ 50-59 ปี

แต่เมื่อ “โฟกัส” ไปที่อายุตั้งแต่ 0-19 ปี กลับพบว่ามีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยหลักร้อยต่อปี ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าค้นหามูลเหตุ ปัจจัยอย่างละเอียด และสร้างแนวทางป้องกัน ยับยั้งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลจาก ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ตั้งแต่ปี 2540-2562 มีประชากรช่วงวัยเด็กถึงเยาวชน อายุระหว่าง 0-19 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จ 7,459  คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเด็ก อายุ 0-9 ปี จำนวน 43 คน อายุ 10-19 ปี จำนวน 7,416 คน

แยกตามรายปี ดังนี้

ปี 2540 จำนวน 616 คน          ปี 2541 จำนวน 733 คน

ปี 2542 จำนวน 710 คน           ปี 2543 จำนวน 579 คน

ปี 2544 จำนวน 474 คน          ปี 2545 จำนวน 493 คน

ปี 2546 จำนวน 368 คน          ปี 2547 จำนวน326 คน                        

ปี 2548 จำนวน 299 คน          ปี 2549 จำนวน 234 คน                        

ปี 2550 จำนวน 251 คน          ปี 2551 จำนวน 228 คน         

ปี 2552 จำนวน 256 คน          ปี 2553 จำนวน 268 คน                        

ปี 2554 จำนวน 241 คน         ปี 2555 จำนวน256 คน                        

ปี 2556 จำนวน 236 คน         ปี 2557 จำนวน162 คน                         

ปี 2558 จำนวน 153 คน          ปี 2559 จำนวน 194 คน                         

ปี 2560 จำนวน 140 คน          ปี 2561 จำนวน 131 คน                         

ปี 2562 จำนวน 111 คน

จากสถิติที่ปรากฏ แม้อัตราฆ่าตัวตายในเยาวชนจะเป็นกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ถือเป็นภาพสะท้อนที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปอย่างไร้ความหมาย 

ล่าสุดมีข้อเสนอจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นควรยกเป็นกรณีศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและนำไปสู่ข้อเสนแนะแก้ไข “เชิงระบบ” อย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดว่าวัยนี้ยังถูกละเลย ขาดการคุ้มครองทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการ ที่สำคัญกับการเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของสังคม.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]