“กัญชาฟีเวอร์” มีทั้งกลุ่มที่ใช้ตรงวัตถุประสงค์ และอีกด้านที่เคยใช้ผิดทางอยู่ใต้ดินปะปนอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ทั้งสังคมจับตาผลกระทบมากสุดคือ “เด็กและเยาวชน” ทั้งในระยะสั้นที่ยังไม่มีกฎหมายดูแล และระยะยาวที่ต้องโตมาพร้อมประเทศเสรีกัญชา

นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว สะท้อนมุมมองในฐานะคลุกคลีกับเด็กและเยาวชนก้าวพลาดว่า แม้เด็กจะเข้ามาในคดีที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปก็ล้วนอยู่ในเส้นทางสีเทาดำ บางคนมาในคดีฆาตกรรม แต่ก็ใช้สารเสพติด และเพราะเป็นเด็กจึงไม่สามารถหาเงินได้เองต่อเนื่อง สิ่งที่ใช้จึงมักดัดแปลง หรือปรับสูตรกันเอง เช่น ใช้ยาทรามาดอล ที่มีคุณสมบัติระงับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง มาผสมเครื่องดื่ม หรือน้ำกระท่อม เพื่อให้เมา และแม้เภสัชกรจะไม่ขายให้ แต่เด็กก็สั่งซื้อทางออนไลน์

“รูปแบบการใช้ยาเสพติดของเด็กจึงไม่ใช้แบบผู้ใหญ่ หรือที่ไฮโซใช้ซื้อโคเคน หรือเฮโรอีน ของเด็กๆคือการดัดแปลงเอาแทน”

ปัจจุบันที่มีการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด นางทิชา ยอมรับว่ามีข้อกังวลเยอะมาก ไม่ได้หมายความว่าเด็กยุคนี้เลวกว่าเด็กยุคก่อน เพียงแค่ยังมองไม่เห็นนโยบายรัฐที่จะส่งเสริม ทุ่มเทให้เด็กมีทุนชีวิตแข็งแรงขึ้น ในขณะที่เด็กยุคนี้ต้องอยู่ท่ามกลาง “สิ่งเร้า” ที่เข้มข้นมาก

“ที่ห่วงมาก ๆ คือหากเราไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่คุกคามเด็กได้ เท่ากับเรากำลังจะสูญเสียเด็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้เข้มแข็งพอ เด็กเหล่านี้จะร่วงก่อน ล้มก่อน ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวแบบไหน ถ้าเรามีเด็กที่ล้มติดกันเยอะ ราคาที่ประเทศต้องจ่ายก็แพงขนานกันไป การปลดล็อกล่าสุด หากออกแบบดี ๆ อาจไม่น่าน่าห่วงใยมากนัก แต่การปลดกัญชาจากบัญชีสารเสพติดประเภทที่ 5 เท่ากับทุกคนเข้าถึงได้ ปัญหาเก่าของเด็กยังแก้ไขไม่ได้ กลับมาเปิดหลุมดำใหม่อีกหนึ่งหลุม”

เมื่อถามถึงช่วงอายุเด็กที่น่าเป็นห่วงมากสุด ระบุว่า ไม่มีตัวเลขเป๊ะ แต่มีแนวโน้มช่วง 12 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีปีก อยากบิน เริ่มเป็นตัวของตัวเอง

สำหรับบทบาทในการสร้างความเข้าใจถึงโทษ มองว่าการควบคุมว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้มีความยาก น่าจะดีกว่าการมาบอกให้เด็กระวังตัวเอง ถึงแม้เป็นสิ่งที่ต้องทำแต่ก็ควรทำอย่างมีประสิทธิภาพทั้งสองด้าน หากปล่อยให้เด็กและครอบครัวระมัดระวังกันเอง เตือนกันเอง อย่างนั้นไม่ต้องมีรัฐ ไม่ต้องมีหน่วยงานราชการก็ได้ 

พร้อมยกตัวอย่าง ที่บ้านกาญจนาฯ ทำประชาพิจารณ์เมื่อรู้ว่าจะปลดล็อก โดยให้เด็กร่วมคิด ร่วมคุย เช่น รูปแบบการนำกัญชามาใช้ มาดัดแปลง ประสบการณ์เดิมที่เคยลองให้เขาดึงข้อมูลออกมานำเสนอกันว่าเห็นด้วยหรือไม่  พบว่าเด็กไม่เห็นด้วยสักคนเดียว เพราะรู้ว่าคนอื่นอาจจะกระโดดเข้ามาข้องเกี่ยว รู้สึกเป็นห่วงมากกว่า แต่เห็นด้วยที่จะใช้เพื่อการแพทย์ 

นอกจากนี้ ระบุถึงการควบคุมว่าเห็นด้วยที่จะใช้แนวทางเดียวกับบุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ให้มีการโฆษณา ขณะที่ภายใต้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจึงลดทอนความเสียหายลงได้บ้าง หนึ่งในนั้นต้องทำให้การเข้าถึงมีความยากขึ้น อาจกำหนดอายุ กำหนดรูปแบบซื้อขายให้ชัด ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาจูงใจใดๆ

“การเป็นพ่อแม่ในยุคที่สิ่งกระตุ้นเร้าเยอะขนาดนี้ ไหนจะเรื่องของการปลดล็อกกัญชาที่ถูกเพิ่มเข้ามา เป็นภาระที่ไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่ต้องดูแลเด็กและเยาวชน ทั้งครอบครัว พ่อแม่ ครู แต่ขออย่าเพิ่งท้อ ลองหาเทคนิคใหม่ๆ แต่เทคนิคที่ดีที่สุดการนั่งลงและพูดคุย ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้รู้สึกว่าความคิดและคำพูดของพวกเขาน่ารับฟัง เขาจะสื่อสารทุกเรื่องเมื่อเราตั้งใจรับฟัง คำแนะนำเราจึงจะมีประสิทธิภาพ แต่ใช้วิธีออกคำสั่ง เสียงที่ส่งไป จะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งของผู้ใหญ่เท่านั้น”

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]