หลังจากจบศึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 รัฐมนตรีทั้ง 11 คนไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ต่อจากนี้ที่รัฐบาลเรือเหล็กต้องมาเจอมรสุมลูกใหม่ ในประเด็นวาระ 8 ปี ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งมีปัญหาข้อถกเถียงจากฝ่ายต่าง ๆ มากมาย ที่ต่างก็ตีความไปกันคนละมุม นับจากนี้จะเป็นเดิมพันที่สูงว่า “บิ๊กตู่” จะประคองเกมอำนาจบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อจนครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ได้หรือไม่ 

“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ซึ่งเป็นหัวหมู่ฝ่ายทะลวงฟันถึงการเดินหน้าในประเด็นนี้อย่างไร

โดย “นายสุทิน” เปิดฉากกล่าวว่า 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไม่ได้แน่ ๆ แต่มีปัญหาว่าเริ่มนับ 8 ปีตอนไหน ขณะนี้มีอยู่ 3 กระแส 3 ความคิด คือ 1. เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 2. เริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และ 3. เริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉะนั้นจึงมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและคนอีกจำนวนไม่น้อย เห็นว่าควรนับตั้งแต่ปี 2557 ถามว่าทำไมถึงนับตั้งแต่ปี 2557 เพราะต้องยึดถือเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่เขียนเรื่องนี้ไว้ ซึ่งได้กำหนดว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ไม่เกิน 8 ปี ถือว่า เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยเฉพาะประเทศแม่แบบประชาธิปไตย เพราะเขาคิดว่าถ้าคนอยู่ในอำนาจเกิน 8 ปี จะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการสร้างกลไกสืบทอดอำนาจ สุ่มเสี่ยงวางระบบทุจริต และสุ่มเสี่ยงสร้างรัฐเผด็จการทางความคิด ประเทศไทยเมื่อก่อนไม่มี เพิ่งจะมาร่างในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากไปดูบันทึกการประชุมของคณะร่างในตอนนั้นก็พูดคุยถึงเจตนารมณ์นี้ แล้วพูดคุยชัดเจนว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ต้องนับรวมกันด้วย 

“วันนี้หลายคนบอกว่า ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ สมมุติว่ารัฐธรรมนูญบังคับใช้เมื่อปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ได้อีก 3 ปี แต่ถ้านับเมื่อปี 2562 ยิ่งไปกันใหญ่อีก 5 ปี ถ้าแบบนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องอยู่ในวาระทั้งหมด ถ้านับตั้งแต่ปี 2560 ก็จะอยู่ทั้งหมด 11 ปี ถ้านับตั้งแต่ปี 2562 ก็จะอยู่ทั้งหมด 13 ปี ดังนั้นถ้าดูตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ต้องการสกัดกั้นคนอยู่นาน แล้วจะสร้างระบบสืบทอดอำนาจและสร้างเครือข่ายทุจริต ไม่ว่าจะนับจากไหนก็ตาม ถ้าเกิน 8 ปีก็เริ่มเข้าสู่อันตรายแล้ว ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อเนื่องไม่มีสับช่วงด้วย ผลเสียที่จะเกิดกับประเทศและระบบมันจะเกิด เพราะฉะนั้นต้องยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเป็นหลัก คือ ต้องนับปี 2557 ซึ่งจะจบที่ 24 ส.ค. นี้” 

นอกจากนี้ มีคนแย้งว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แต่บางเรื่องก็ย้อนแย้งกันอยู่ เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกรัฐมนตรีและคณะ เมื่อดำรงตำแหน่งมาแล้วต่อเนื่องก็ไม่ต้องยื่นอีก แสดงว่าคุณเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมา แล้วก็ตีความหลาย ๆ เรื่องตีความย้อนหลัง และมีกรณีเทียบเคียงอีกเยอะ ดังนั้นถ้านับตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วในเดือน ส.ค. นี้ ถ้าทุกคนนับเลขถูกก็จะจบวันที่ 24 ส.ค. 2565 

@ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้ เพราะยังไม่ครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งยึดหลักการนับไม่เหมือนฝ่ายค้านจะเกิดอะไรขึ้น 

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดึงดันอยู่ต่อก็แสดงว่าบ้านเมืองนี้เข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงหรืออันตรายจากคนที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี แล้วจะเกิดการถกเถียงเกิดความคิดเห็นต่างเห็นแย้งในสังคมอย่างมาก ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาแน่นอน ต่อมาก็จะเกิดการตั้งข้อสงสัยกับสำนึกของ พล.อ.ประยุทธ์ และเมื่อศาลตัดสินแบบนั้นปัญหาก็จะอยู่ที่ศาลด้วยเช่นกัน เราคิดว่าอย่าให้เกิดเป็นปัญหากับประชาชน เป็นปัญหากับศาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรคิดและพิจารณาตัดสินใจเอง ถอดสลักเองดีที่สุด 

แต่ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องเคารพคำวินิจฉัยศาลไม่ว่าจะออกมาอย่าไร แต่ก็เป็นห่วงการยอมรับนับถือที่เรียกว่าความศรัทธาที่มีต่อองค์กรศาล ต่อจากนั้นก็จะเป็นวิถีทางการเมือง ต้องกลับไปถามว่าประชาชนจะเอาอย่างไร เราก็จะกระตุ้นเตือนสำนึก พล.อ.ประยุทธ์ ทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ ให้เขาได้สร้างมาตรฐานที่ดีกับประเทศ

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้ เพราะครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดสภาพเหมือนลาออก แล้วแต่งตั้งรักษานายกรัฐมนตรี สักระยะหนึ่ง เพื่อรอสภาฯ สรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเอารายชื่อในลิสต์ก่อนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ถ้ารายชื่อนี้ ทำตามกระบวนการนี้ ก็ยังไม่สามารถหานายกรัฐมนตรีได้ ก็เข้าสู่การหานายกรัฐมนตรีคนนอก

@ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อไร

กำลังศึกษาข้อกฎหมายกันอยู่ วันนี้ฝ่ายค้านได้ร่างคำฟ้อง คำร้อง คำยื่นไว้หมดแล้ว โดยมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.ยื่นก่อนวันที่ 24 ส.ค. 2565 เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ซึ่งรัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็กวักมือเรียกอยู่ และ 2.ยื่นหลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 ก็มาพิจารณากันว่าจะยื่นได้หรือไม่ เพราะความผิดมันยังไม่เกิด คาดว่า เร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องมาวิเคราะห์ว่า กฎหมายให้ยื่นได้ในห้วงเวลาไหน ก่อนหรือหลังวันที่ 24 ส.ค. 2565 ส่วนรายละเอียดขั้นตอนในการยื่นร้องนั้น เป็นหน้าที่ของสภาฯที่จะเป็นผู้ยื่นร้อง โดยให้ ส.ส.เข้าชื่อเสนอไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

@หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ต่อไปลากยาวอีกจนไปถึงเลือกตั้ง แต่กฎกติกาเลือกตั้ง ขณะนี้ยังลูกผีลูกคน ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่

ไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง สภาฯก็ยังเดินหน้าพิจารณากฎหมายทำงานตามปกติ ก็เขาไม่ได้ยุบสภา หากจะตีความยื่นถอดถอนพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไปได้ จึงอยู่ที่พลังมวลชน พลังสังคมกดดันเท่านั้น ที่จะกระตุ้นต่อมสำนึก พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยออกมาอย่างไร.