ผมได้เห็นคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=lIhr2EtQ_c8 ทำให้ทราบว่าบริษัท RBS ของรุ่นพี่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Save Thai Fight Covid โดยร่วมกับวุฒิสภา มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม KPISE และเยาวชน SEED Thailand ช่วยกันจัดหาสิ่งจำเป็น เช่น เวชภัณฑ์ อาหารเสริม อาหารแห้ง บรรจุใส่กล่อง ส่งไปยังผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation

บริษัท RBS ไม่ไกลจากบ้านผมนัก ผมขออนุญาตเข้าไปดูระบบการจัดการกล่องช่วยเหลือ Save Thai Fight Covid ดร.นพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อาร์บีเอส กล่าวว่าได้ใช้พื้นที่ของออฟฟิศเป็นที่แพ็คของ มีพนักงานสลับเวรกันลงมาช่วย มีห้องหนึ่งที่บรรจุคู่มือ Home Isolation คู่มือชุดบำรุงร่ายกายและจิตใจ เวชภัณฑ์ วิตามิน อาหารเสริม หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ถุงขยะติดเชื้อ หนังสือธรรมะ ส่วนห้องด้านล่างจะเป็นที่บรรจุอาหารแห้ง ได้แก่ ข้าวสาร 1 กิโล ปลากระป๋อง น้ำปลา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งหมดจะแพ็คใส่กล่องเตรียมไว้

เมื่อได้รับการติดต่อจากผู้ป่วย ต้องมีการลงชื่อในระบบ ผู้ใหญ่บางท่านไม่ถนัดใช้มือถือ จะมีเยาวชน SEED Thailand โทรศัพท์ไปสอบถามอาการเพื่อเก็บข้อมูล ผลการตรวจ RT-PCR ประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุข ช่วยลงทะเบียนเข้าระบบ แล้วจัดส่งกล่องของจำเป็นสำหรับ Home Isolation ไปให้ รวมถึงติดตามอาการและโทรคุยให้กำลังใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้แอปพลิเคชันบนมือถือได้ ติดต่อที่ LINE ID: @savethai ผู้ป่วยสามารถเข้าไปแชทได้เลย มีเมนูเกี่ยวกับการลงทะเบียน ข้อมูลทั่วไป ความรู้สู่โควิด (คู่มือการกักตัว) ติดต่อเรา (คุยกับทีมงาน ต้องการกำลังใจ สายด่วน)

ดร.นพพลบอกว่ากล่องที่จัดส่งให้ ต้องการ Save คนไทยทุกคน ทั้งผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในบ้าน Save คนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แม้กระทั่งคนเก็บขยะก็ต้อง Save เขาด้วย จึงต้องมีถุงใส่ขยะติดเชื้อให้ทิ้งขยะถูกวิธี และการที่จะ Fight Covid คือต้องรู้ว่าคนป่วยอยู่ที่ไหน ไปหาและดูแลจนกว่าพาผู้ป่วยเข้าระบบสาธารณสุข โดยระหว่างนั้นจะมีเวชภัณฑ์ช่วยบำรุงร่างกายและใจให้แข็งแรง มีของยังชีพที่จำเป็นไว้อุปโภคบริโภค

ดร.นพพลพาผมไปยังออฟฟิศอีกแห่งซึ่งเปลี่ยนจากศูนย์กระจายสินค้าที่เพิ่งสร้างเสร็จเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยขนาด 176 เตียง ขณะที่ผมไปดู มีการลงเตียง สร้างห้องน้ำ ทำทางลาดให้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร เช็คระบบการรักษาความปลอดภัย ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต การระบายอากาศ บ่อบำบัดน้ำทิ้ง การทิ้งขยะติดเชื้อ ฯลฯ หน้างานกำลังวุ่นวายเลยครับ ตอนนี้ทีมงานทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะทุกนาทีมีค่าสำหรับผู้ป่วยที่รอการรักษา ศูนย์พักคอยฯ แห่งนี้ต้องเปิดภายในวันแม่ 12 สิงหาคม

ดร.นพพลบอกว่าเป็นเวลาที่ต้องคิดถึงส่วนรวม ยอดคนติดเชื้อโควิดวันนี้ทะลุ 2 หมื่นคนไปแล้ว อัตราการติดเชื้อพุ่งขึ้นสูง โรคพัฒนาตัวเองเร็วมากเพียง 3 วันก็ออกอาการ โครงสร้างการจัดการตามขั้นตอนสาธารณสุขยังขาดการจัดการผู้ป่วยและการเข้าถึงผู้ป่วย เราต้องลดภาระแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลให้ดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะเหลืองเข้มถึงแดง ถ้ามีการแยกผู้ป่วยสีเขียวออกมาได้เร็ว อัตราการสูญเสียจะน้อยลง และกลไกในการส่งต่อผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขจะง่ายขึ้น แพทย์และพยาบาลจะเหนื่อยน้อยลงและอัตราเสี่ยงที่จะติดโรคจากคนไข้ก็จะน้อยลงไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ ดร.นพพลจึงตัดสินใจใช้คลังสินค้าที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เปลี่ยนไปศูนย์พักคอยฯ ยอมทุบกำแพงทำทางลาดให้หุ่นยนต์ขึ้นได้ ทางเขตและสาธารณสุขได้มาตรวจดูพื้นที่และช่วยอำนวยความสะดวก คนในบริเวณใกล้เคียงไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อส่งมอบศูนย์ฯ ให้ทางสาธารณสุขแล้วก็จะปิดพื้นที่เลย เข้าได้เฉพาะรถรับส่งผู้ป่วยสีเขียวมาที่นี่เท่านั้น รักษาพ้นระยะ 14 วัน รถก็มารับออกไป

ผมสอบถามว่าถ้าผู้ประกอบการมีอาคารหรือมีพื้นที่อย่าง ดร.นพพล อยากจะปรับเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยแบบนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ดร.นพพลแจ้งว่า ง่ายที่สุดคือติดต่อกับเขตที่เราอยู่ แล้วเขตจะมาดูพื้นที่ ถ้ามีเฉพาะที่ รัฐจะหาอุปกรณ์ต่างๆ มาเติมให้ หรือถ้าสามารถช่วยปรับปรุงพื้นที่ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่สาธารณสุขกำหนดได้ ก็จะช่วยให้การสร้างศูนย์ฯ ทำได้เร็วขึ้น เขตจะช่วยประสานกับทางสาธารณสุขเขตและโรงพยาบาลที่มีการคัดกรองผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว ไม่วิกลจริต ก็จะส่งผู้ป่วยเหล่านั้นเข้ามาพักคอยเพื่อดูอาการและรักษาในศูนย์ฯ

ถ้าใครมีจิตอาสาและจิตศรัทธาอยากช่วยบริจาคเป็นเงิน สามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิ สปส. เลขที่บัญชี 405-523655-3 หรือถ้าจะบริจาคสิ่งของหรืออาหารแห้งเพื่อนำไปช่วยผู้ป่วยและประสบภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถติดต่อผ่าน LINE ID: @savethai หรือ jumrbs หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 084-668-7822 และ 094-423-4852 ครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage