ความเครียดจากภาวะกดดัน และปัญหาหนี้สิน กลายเป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “จุดจบ” หลายชีวิตช่วงนี้ โดยเฉพาะ “หนี้เงินด่วน” จากการกู้นอกระบบผ่านแอพพลิเคชั่นเงินกู้  หรือ SMS สินเชื่ออนุมัติไว ที่พบเห็นได้ถี่ๆ เฉพาะการแจ้งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่น “รู้ทัน” ของ ศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพียงช่วงวันที่ 1 มิ.ย.-6 ส.ค.ที่ผ่านมา รับแจ้งเบาะแสแล้ว 399 เรื่อง แยกเป็น มิ.ย. 121 เรื่อง, ก.ค. 230 เรื่อง และ ส.ค. มีแล้ว 48 เรื่อง

หากพิจารณารายละเอียดพบว่าพื้นที่รับแจ้งเบาะแสมากสุด สอดคล้องกับจังหวัดที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หนักสุดเป็นอันดับต้นๆ  ได้แก่ กทม. 82 เรื่อง สมุทรปราการ 31 เรื่อง และนนทบุรี 23 เรื่อง

พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ  ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ระบุ สถานการณ์กู้เงินนอกระบบผ่านแอพกระจายตัวไปหลายจังหวัดมากขึ้น ขณะที่การแจ้งเบาะแสของลูกหนี้มีเข้ามาทุกวัน ภาพรวมรูปแบบการปล่อยกู้ยังคงเดิมคือส่งลิงก์ สมัคร รอรับโอน ซึ่งวงเงินยังจำกัดไว้ไม่สูง 2,000-2,500 บาท ลูกหนี้บางคนจึงกู้เงินหลายแอพ

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่เห็นชัดเจนขึ้นจากปัญหาแอพเงินกู้ขณะนี้คือ รูปแบบ “ทวงหนี้” ที่รุนแรงขึ้นทั้ง ข่มขู่ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย โพสต์ประจานผ่านสื่อออนไลน์ ทวงหนี้จากรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์

จากสภาพปัญหานี้ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีฯ มองเป็นประเด็นหลักที่รัฐควรออกมามีบทบาทว่าจะให้ความคุ้มครองอย่างไรได้บ้างกับการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ลูกหนี้เองจำเป็นต้องปรับทัศนคติว่าการกู้ยืมเงินไม่ใช่แค่เรื่องทางแพ่ง แต่พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายความผิดอาญาทั้งการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไปจนถึงการติดตามทวงถามหนี้ที่เข้าข่ายขัดกับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ และลูกหนี้สามารถแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายได้

ทั้งนี้ ยอมรับด้วยทัศคติผู้ปฏิบัติที่มักมองการติดตามความผิดทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก ประกอบกับลูกหนี้จำนวนมากไม่ได้มียอดเงินกู้สูงจึงไม่เห็นความสำคัญ ทั้งที่จริงหากบูรณาการข้อมูลร่วมกัน หนี้เพียง 2,000-3,000 บาท ภาพรวมคือความเสียหายมหาศาล และอาจเห็นโครงข่ายที่ทำให้การสืบเสาะทำลายฐานใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลเบอร์บัญชี เบอร์โทรศัพท์ติดตามทวงหนี้ เบอร์ที่ส่งข้อความจะถูกนำมาวิเคราะห์เป็นภาพใหญ่ได้ดีกว่าต่างคนต่างทำ

ผอ.กองคดีเทคโนโลยีฯ ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาหนี้นอกระบบที่เชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งตั้งข้อสังเกตส่วนหนึ่งมาจากการขาดภูมิคุ้มกันที่มากพอ เพราะโดยหลัก “การเป็นหนี้” คือหนี้ทางแพ่งที่ทำได้แค่ไปฟ้องร้อง ไม่สามารถมากระทำกับตัวได้ การฆ่าตัวตายมักพบในลูกหนี้ชั้นก่อนฟ้อง หรือระหว่างถูกทวงถามหนี้มากกว่าลูกหนี้ที่ถูกฟ้องหรือถูกบังคับคดี สาเหตุมาจากความกดดันทวงหนี้กับลูกหนี้หรือคนใกล้ชิด

ดังนั้น หนี้ในชั้นก่อนฟ้อง หรือชั้นติดตามทวงถามจึงเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตายมากกว่า และมักเกี่ยวข้องกับการเป็นหนี้ดอกเบี้ยสูง อย่างหนี้นอกระบบ ตอกย้ำว่าการทวงหนี้ที่ละเมิดกฎหมายควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เป็นการสร้างระบบหนี้ที่เป็นธรรมกับประชาชน

การฆ่าตัวตายจากหนี้สิน หากสร้างระบบหนี้ที่เป็นธรรม คนจะไม่ฆ่าตัวตายจากการเป็นหนี้ เพราะหนี้ก็แค่คดีทางแพ่ง มีสิทธิแค่ฟ้องร้องบังคับคดีซึ่งอย่างมากก็หมดเนื้อตัว แต่เรายังมีชีวิตอยู่ รัฐมีหน้าที่ต้องเฝ้าระวังและเด็ดขาดกับการทวงหนี้ที่ละเมิด ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีให้จริงจัง”

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐต้องเอาใจใส่กับสังคมให้มากขึ้น พร้อมย้ำขณะนี้การใช้มาตรการทางกฎหมายมีส่วนสำคัญที่สุดในการปกป้องลูกหนี้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]