พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระเมตตาห่วงใยต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงทรงแนะนำการปลูกป่าแบบผสมผสานทั้งในด้านการเกษตร วนศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการปลูกป่าแบบเบ็ดเสร็จ ทรงมีพระราชดำรัส ความว่า  “…ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆ… การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้ รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละ เป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…”

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า “…การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย… การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยโดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ…”

แนวพระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ดำเนินการในหลายส่วนราชการ ทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง คือ การปลูกป่าใช้สอย โดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรม ส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ สะเดา ฯลฯ หลักการสำคัญ คือ ปลูกไม้ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งพออยู่ หมายถึง ไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่อาศัยและจำหน่าย พอกิน หมายถึง ปลูกพืชเกษตรเพื่อการกินและสมุนไพร พอใช้ หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรงและพลังงาน เช่น ไม้ฟืน ไม้ไผ่ ฯลฯ ประโยชน์ต่อระบบนิเวศ คือ สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า

โครงการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีแนวทางในการดำเนินการ คือ ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวคิด ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  จัดรูปแบบการปลูกให้เกิดคุณค่าและบูรณาการในพื้นที่ทำกินเดิมให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า  สร้างมูลค่าต้นไม้ที่ปลูก ทำให้เป็นทรัพย์ เพื่อออมทรัพย์และใช้แก้ปัญหาความยากจน

การจัดองค์ประกอบพันธุ์ไม้ตามวัตถุประสงค์ โดยการปลูกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ตามความเหมาะสม แต่ให้ได้องค์ประกอบซึ่งให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ ดังนี้

1. ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านพออยู่ เช่น การปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เช่น ไม้ตะเคียนทอง, สัก, ยางนา, มะฮอกกานี, กระทินเทพา, จำปาทอง ฯลฯ

2. ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอกิน เช่น การปลูกต้นไม้สำหรับใช้เป็นอาหาร ยาสมุนไพร เครื่องดื่ม ตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อมีรายได้จากการค้าขาย เช่น ไม้ผลต่าง ๆ ได้แก่ เงาะ, ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง, มะม่วง ฯลฯ ไม้ที่ให้ผลผลิตเพื่อขาย เช่น ปาล์ม, มะพร้าว, ยางพารา ฯลฯ

3. ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอใช้ เช่น ปลูกสำหรับใช้สอยในครัวเรือน ใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่าง ๆในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ไม้ไผ่ หวาย สำหรับจักสานเป็นเครื่องเรือน ของใช้ ฯลฯ ไม้โตเร็วบางชนิดที่ใช้เป็นไม้ฟืน ถ่าน ไม้พลังงาน เช่น สบู่ดำ ปาล์ม ฯลฯ ไม้ทำเครื่องมือการเกษตร ได้แก่ การทำด้ามจอบ มีด ขวาน ทำรถเข็น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ฯลฯ

การจัดโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้ในป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการจัดโครงสร้างพันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อความสมดุลของระบบนิเวศ โดยให้มีชั้นเรือนยอด 3 ชั้น ได้แก่ เรือนยอดชั้นบน เรือนยอดชั้นกลาง เรือนยอดชั้นล่าง และหากจัดโครงสร้างด้านการใช้ประโยชน์จะเป็น 4 ระดับ คือ ชั้นบน ชั้นกลาง ชั้นล่างและชั้นใต้ดิน ตามรูปแบบเกษตร 4 ชั้น

1. ไม้เรือนยอดชั้นบนได้แก่ ไม้ที่ปลูกใช้เนื้อไม้ทำที่อยู่อาศัย เช่น ตะเคียนทอง, สัก ยางนา, สะเดา, จำปาทอง ฯลฯ และไม้ที่ลำต้นสูงและที่ลูกเป็นอาหารได้ เช่น สะตอ, เหรียง, กระท้อน, มะพร้าว หมาก ฯลฯ

2. ไม้เรือนยอดชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นไม้เพื่อการกิน, การขาย, การใช้เป็นอาหารและสมุนไพร เช่น มะม่วง, ขนุน, ชมพู่, มังคุด, ไผ่, ทุเรียน, ลองกอง, ปาล์ม ฯลฯ

3. ไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทั้งที่เป็นอาหาร, สมุนไพรและของใช้ เช่น กาแฟ ผักป่าชนิดต่าง ๆ ชะพูล, มะนาว, หวาย, สบู่ดำ ฯลฯ

4. พันธุ์พืชที่ใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่ใต้ดิน (พืชหัว)เป็นพืชที่ปลูกเพื่อความพอเพียงในด้านการกิน ได้แก่ กลอย, ขิง ข่า, กระชาย, กระทือ ฯลฯ

กระบวนการปลูกในรูปแบบดังกล่าว จะได้พันธุ์ไม้ที่เกิดป่า 3 อย่าง คือ ป่าเพื่อพออยู่ ป่าเพื่อพอกิน ป่าเพื่อพอใช้ และจะได้ประโยชน์เพิ่มโดยการรักษาความสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าต้นไม้ ในโครงการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการให้คุณค่าไม้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อจะได้พออยู่ พอกิน และรักษาที่ดินทำกินไว้ โดยมีการลดค่าใช้จ่ายจากการปลูกพืชไว้บริโภคเอง

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าชุดปฎิบัติการพิเศษทวงคืนผืนป่า หัวหน้าหน่วยพญาเสือ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยนำเสนอความคิดเมื่อหลายปีก่อน เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกต้มไม้ในโครงการ “เพาะเมล็ดพันธุ์วันพ่อ ปลูกต่อวันแม่ ดูแลวันสมเด็จย่า” มีความน่าสนใจยิ่ง

“เพาะเมล็ดพันธุ์วันพ่อ”  อยู่ในห้วงเวลาปลายฝนต้นหนาว ไม้ป่า ไม้ผล และไม้พุ่ม จะผลิดอกออกใบและให้ผล มีเมล็ดแก่ที่เหมาะกับการนำไปเพาะต้นกล้า ซึ่งสามารถเก็บได้ก่อนวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

“ปลูกต่อวันแม่” อยู่ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติ เหมาะกับการปลูกป่า และปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ   

“ดูแลวันสมเด็จย่า” วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันราชสมภพสมเด็จย่า ซึ่งเป็นวันรักษ์ต้นไม้ประจำปีของชาติ เป็นห้วงเวลาที่เหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะต้องดูแลอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง         

หากมีการรณรงค์โครงการ “เพาะเมล็ดพันธุ์วันพ่อ ปลูกต่อวันแม่ ดูแลวันสมเด็จย่า” ในวงกว้างระดับประเทศแล้ว จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จากร้อยละ 31 เป็นร้อยละ 40 ตามเป้าหมายของรัฐ ประการสำคัญการมีจิตสำนึกของผู้คนทั่วไปในสังคม โดยมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นตามบ้านเรือน สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัด ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ จะช่วยเสริมสร้างให้ทุกหนแห่งมีบรรยากาศความร่มรื่น คลายความร้อน ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดน้อยลง จะทำให้บ้านเมืองมีความน่าอยู่ น่าอาศัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศชาติ

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

ขอบคุณภาพ : มูลนิธิมั่นพัฒนา Thailand Sustainable Development Foundation