ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สองเดือนมกราคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ สำหรับวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 ส่วนวันครูแห่งชาติของทุกปี ตรงกับวันที่ 16 เดือนแรกของปี วันครูแห่งชาติประจำปี 2566 นี้   ตรงกับวันที่ 16 มกราคม 2566  นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 และวันครูแห่งชาติประจำปี 2566 อยู่ห่างกันแค่สองวัน วันทั้งสองที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้จะมีได้ยาก นานทีปีหนซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรับรู้ของสังคมถึงคุณค่าและความสำคัญของวันทั้งสองนี้ เด็กและครูมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กไม่มีความรู้อะไรจึงต้องมาศึกษาหาความรู้จากครูที่โรงเรียน

การจัดงานวันเด็กแห่งชาติในแต่ละปี ไม่ใช่เพียงแค่จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ กิจกรรมบันเทิงสนุกสนานเท่านั้น แต่แก่นแท้ของการจัดงานวันเด็กนั้น อยู่ที่การเหลียวแลเอาใจใส่กับเด็กในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลานามัย การเติบโตของร่างกายตามวัย การพัฒนาความรู้และความคิดให้เป็นผู้มีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึกโดยมีความรู้คู่คุณธรรม   มีทักษะในการดำเนินชีวิต รู้      เท่าทันกับเภทภัยต่างๆ ที่มีอยู่มากมายรอบตัวในชีวิตประจำวัน

วันครูแห่งชาติในแต่ละปี ไม่ใช่เพียงแค่จัดกิจกรรมเชิดชูครูดีเด่นและมีการพบปะสังสรรค์กันเท่านั้น แต่แก่นแท้ของการจัดงานวันครูนั้นอยู่ที่การเหลียวแลเอาใจใส่กับครูในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถหน่วยงานภาครัฐได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะต้องบริหารงานบุคคลภายใต้ระบบคุณธรรมไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ ครูที่ดีจะได้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่  ตลอดจนการดูแลและแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของครู

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตของเด็ก จะขอนำบทกลอน “กาลเวลากับชีวิต” ในสาระการเรียนรู้ภาษาไทยจากหนังสือ “กาลเวลา” ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาเล่มแรกของไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1-6  ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบสหวิชา (inter-discipinary)​ ภายใต้บริบทมิติกาลเวลา (time dimension) เพื่อพัฒนาทักษะในการคิดให้รู้จักคิดเป็นระบบ (systematic thinking) คิดแบบบูรผณาการ (integrated thinking) และคิดอย่างสร้างสรรค์ (creative thinking) ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ 8 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  ​ สุขศึกษา​และ​พลศึกษา​ คณิตศาสตร์​ วิทยาศาสตร์​ สังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้น​ตั้งแต่ปี  2548  ใจความในบทกลอน “กาลเวลากับชีวิต” มีดังนี้

กาลเวลากับชีวิต
กาลเวลาพาคนพ้นผ่านวัย                  จงอย่าได้ใช้ชีวิตผิดวิถี
มุ่งหมั่นเพียรเรียนร่ำตำราดี                 ทุกนาทีมีค่ารักษาไว้
เมื่อยังเล็กเด็กอยู่รู้ขวนขวาย               สู่จุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่
วิชาการสารพันนั้นมากมาย                  อย่าดูดายใฝ่อนาคตที่งดงาม
ในยามเรียนต้องเพียรเขียนอ่านคิด       เพ่งพินิจพิจารณาหาคำถาม
ตั้งกายใจไม่ละพยายาม ใฝ่คุณธรรมความดีเป็นศรีตน
ให้เชื่อฟังคำครูผู้สอนสั่ง บนเส้นทางบัณฑิตสัมฤทธิ์ผล
อย่าประมาทพลาดพลั้งทุรชน ขอพุทธองค์จงดลบันดาลชัย

เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อครูซึ่งเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่เด็กจะขอนำสาระสำคัญในบทความเรื่อง ครูดีย่อมเป็นศรีแก่แผ่นดิน จากหนังสือครู ซึ่งเขียนโดย ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก  หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม2565 เนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก  มีสาระสำคัญบางตอนดังนี้

 “…วิชาครูนั้นมันไม่มีในโลก คงมีแต่จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ซึ่งถือคุณธรรมเป็นพื้นฐานการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ…

การนำปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามนั้นคือ คำสอนอันยิ่งใหญ่และคู่ควรแก่การเคารพนับถือ ส่วนการสอนด้วยปากแม้แต่กระดาษกับตัวหนังสือหรือเทคโนโลยีนั้น มันเป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งมากกว่า ถ้าใครไปหลงยึดติดอยู่กับมัน ย่อมสร้างผลเสียหายให้กับตนเองหนักมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่น่าสงสารอย่างยิ่ง…..

ครูควรรักศิษย์ยิ่งกว่าชีวิตตัวเอง ชีวิตคนเรานั้น หลังจากเกิดปัญหาเราควรเอาชนะคนด้วยความดี ถ้าเรายังเห็นว่าเขาร้าย แสดงว่าตัวเราเองยังไม่ดีพอ..

สถานภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นย่อมมีจุดที่เข้าถึงความพอเพียง บนพื้นฐานความอิ่มเอิบบนจิตใจตนเอง และอีกทั้งมีจิตใต้สำนึกที่รำลึกได้ว่า หน้าที่ของความเป็นครูนั้นอยู่ที่ไหนและทำอะไรก็ต้องเป็นอยู่แล้ว

บทบาทของความเป็นครู อย่าว่าแต่คนที่ยืนสอนหนังสืออยู่หน้าชั้นเรียน แม้แต่คนซึ่งทำหน้าที่กวาดถนนก็มีวิญญาณความเป็นครูอยู่ในหัวใจ ถ้าบุคคลผู้นั้นรู้จักปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ทุกคนที่เดินผ่านไปมารู้สึกศรัทธา …….

วิญญาณความเป็นครูนั้นทุกคนมีมาแล้วโดยกำเนิด ถ้าผู้มีอำนาจไม่คิดทำลายวิญญาณดังกล่าว สังคมนี้ย่อมดีกว่านี้มาก

ศาสตร์ทุกสาขานั้น เราอาจนำมาแยกแยะเป็นหอคอยได้เอง แต่ศิลป์นั้นมันไม่ใช่แค่ศาสตร์ หากเป็นวิญญาณของศาสตร์ทุกสาขาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากหลักธรรมเป็นพื้นฐาน……

จงเป็นคนอ่อนนอกแต่แข็งใน……

อย่าอยู่อย่างประมาท เพื่อจะได้หยั่งรู้คุณค่าของสิ่งที่อยู่ในรากฐานจิตใจตนเองอันช่วยให้เกิดปัญญาที่แจ่มใสช่วยให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ได้อย่างสวยสดงดงาม ……

ครูดีย่อมเป็นศรีแก่แผ่นดิน วิญญาณครูสิ้นแผ่นดินก็ย่อมฉิบหาย

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม