ต้นเดือนวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองการก่อตั้งครบ 100 ปี ซึ่งผมได้เขียนบทความรำลึกลงไปในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่จุใจ จึงขอเขียนเพิ่มในบทความนี้แล้วกันนะครับ

เอาเข้าจริง ๆ แล้ววันที่ 1 กรกฎาคมที่นับเป็นวันก่อตั้งนั้น มันก็ยังไม่ชัวร์ว่าสมาชิกรุ่นแรกของพรรคนั้นประชุมกันวันนั้นจริงเหรอ เพราะคนที่บอกว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนประชุมก่อตั้งกันในวันที่  1 กรกฎาคมนั้น คือ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งเป็นผู้นำพรรครุ่นแรกที่เป็นคนบอก เพราะหลายคนก็เถียงกันไปมาว่าประชุมกันวันนี้ต่างหาก เหมาซึ่งกุมอำนาจในพรรคจึงเอ่ยวาจาสิทธิ์ว่าเอาวันที่ 1 กรกฎาคมแล้วกัน ทุกคนเลยยืนยันตาม

การประชุมวันนั้นเกิดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในเขตปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นจีนถูกต่างชาติรุกราน แม้ไม่เสียเอกราชการปกครอง แต่ก็มีการขอเช่าดินแดนเป็นของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะ เซี่ยงไฮ้ ที่มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันมาขอเช่าดินแดนในเมืองนี้เต็มไปหมด บางที่ห้ามคนจีนเข้าด้วยซ้ำ ใช้กฎหมายมีอำนาจจัดการกันเองได้อย่างสบายใจ

แน่นอนนะครับว่าในปี 1921 นั้น แม้ราชวงศ์ชิงและฮ่องเต้จะล่มสลายไปแล้ว แต่การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นการล้มอำนาจการปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสรู้เรื่องนี้ ทางพรรคต้องย้ายที่ประชุมไปเมืองอื่น กว่าจะได้ข้อสรุป ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ก่อนจะมีการก่อตั้งดำเนินแนวทางในการแย่งชิงอำนาจรัฐ

ต้องเข้าใจก่อนว่าจีนในยุคนั้นแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ เรียกกันว่า ยุคขุนศึก พรรคก๊กมิ๋นตั๋งเป็นรัฐบาล แต่ก็คุมดินแดนไม่ได้หมด บางเมือง บางมณฑลอยู่ในการปกครองของนายพลซึ่งจัดการดูแลระบบเศรษฐกิจเอง นี่เป็นยุคแตกแยก แต่ข้อมูลในยุคหลัง ๆ ก็เผยแพร่ว่า ในช่วงเวลาก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะชนะสงครามกลางเมืองในปี 1949 นั้น มันก็ไม่ได้เป็นยุคย่ำแย่เสียหมด กลับกันนะครับ มีปัญญาชนชาวจีนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ารับรัฐการ (จีนไม่มีฮ่องเต้แล้ว จะเรียกราชการก็ไม่ได้ ในระบอบสาธารณรัฐจึงขอใช้คำว่ารัฐการ) สร้างความเจริญให้กับหน่วยงาน มีการยกระดับเรือนจำ ให้การศึกษาแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก

เจ้าวาทกรรมว่าก่อนพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยุติสงครามกลางเมืองนั้น ประเทศจีนย่ำแย่ไร้ซึ่งความเจริญนั้น มันเกิดขึ้นจากการโฆษณาของพรรคต่างหาก นักวิชาการที่สนใจเรื่องจีนศึกษาได้เข้าไปอ่านเอกสารในประเทศจีนแล้วพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาเขียนหนังสือมานำเสนอ และมีการแปลเป็นไทยด้วยนะครับ ชื่อเรื่องว่า “จีนก่อนคอมมิวนิสต์ : ประวัติศาสตร์จีนที่คุณอาจไม่รู้ โดย Frank Dikotter ของสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน”

เหมา เจ๋อ ตุง เป็นผู้นำที่ได้อ่านประกาศชัยชนะสงครามกลางเมือง ในยุคแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนบริหารประเทศ เขาถือว่าเป็นยุคทองเลย จีนค่อย ๆ ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ มีการยึดที่ดินจากนายทุนมาให้ประชาชนคนยากไร้ได้ทำนาการเกษตรกัน แต่ไป ๆ มา ๆ ด้วยระบบเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยและระบบพรรคเดียวที่ไม่ค่อยมีใครจะท้วงเหมามากนัก ทำให้แกออกนโยบายก้าวกระโดด ที่หวังจะให้จีนเป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยเร็ว ซึ่งไอ้ระบอบเศรษฐกิจเนี่ย มันไม่อาจก้าวไปได้อย่างใจหวัง ทุกอย่างก็มีขั้นตอนของมัน พลังการผลิตคนจีนก็ไม่ได้เติบโตเร็วเร่งได้

ตอนนั้นเหมาแกอยากเป็นแบบอังกฤษ ซึ่งในปี 1958 นั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีการเร่งผลิตเหล็ก คอมมูนที่คนมาอยู่ทำเกษตรกันถูกเร่งให้ผลิตเหล็ก มีเตาหลอม ด้วยคำสั่งจากรัฐที่เคร่งครัด ชาวนาเอาเครื่องมือทำมาหากินไปหลอมเหล็ก เพื่อเร่งผลิตยกระดับเศรษฐกิจประเทศเพื่อจะได้ส่งออกได้มูลค่ามหาศาล

ผลก็คือนโยบายนี้คือความผิดพลาดของเหมา มีคนตายระดับหลักล้าน เครื่องมือทำมาหากินโดนหลอมละลายไปหมด ไม่มีอุปกรณ์ทำงาน เกิดภัยพิบัติคนหิวโหย ซึ่งจริง ๆ มีหลายปัจจัยมากมายจนทำให้เกิดหายนะครั้งนี้  เหตุการณ์นี้ทำให้เหมาต้องถอนตัวจากการบริหารประเทศ

แต่เหมาในตอนนั้นเหมือนพระเจ้า เขากลับมาอีกรอบด้วยนโยบายใหม่ที่โหดทารุณกว่าเดิม นั่นก็คือ “การปฏิวัติวัฒนธรรม”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1966 และกินเวลายาวนาน 10 ปี เหมาใช้ความนิยมส่วนตัวปลุกปั่นและปั้นเยาวชนคนหนุ่มสาวให้เดินทางสู่ชนบท เรียกตัวเองว่ากลุ่มเรดการ์ด มีการเอาคนมาประจานลงโทษคุมขัง แน่นอนว่าเป็นหลักล้าน และมีคนโดนฆ่าตายมหาศาล สหายร่วมรบสงครามกลางเมืองกับเหมาหลายคนก็โดนด้วย เติ้ง เสี่ยว ผิง ซึ่งจะก้าวมามีบทบาทในเวลาต่อมา ต้องโดนเนรเทศไปทำงานในโรงงานชนบท ลูกชายโดนเรดการ์ดจับโยนลงมาจากตึก พิการตลอดชีวิต นี่เป็นยุคที่โหดร้ายมากของประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลย

2 เหตุการณ์ที่พูดมานี้ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและผู้กุมอำนาจสูงสุดของพรรค (มีอำนาจเด็ดขาดเบ็ดเสร็จเทียบเท่ากับเหมา) ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เหล่านี้เท่าไหร่เลย จงใจละเลย สื่อสังคมจีนเหมือนจะอยากลืมเหตุการณ์นี้ แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายค้านที่ดีนั้น แม้จะน่ารำคาญ สื่อที่ทำข่าวตรวจสอบ คนที่คอยท้วงติงมันมีความสำคัญในระบบการปกครองประเทศอย่างมาก

ตัวสี จิ้น ผิงเองได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างมาก ต้องไปทำงานในชนบท พ่อของเขาเป็นสหายกับเหมา เป็นชนชั้นนำ ก็โดนคนรอบตัวเหมาเล่นงานจนตกอับ (ในเวลาต่อมาพ่อของสี จิ้นผิงจะไปทะเลาะกับเติ้ง เสี่ยวผิงอีก)

นี่คือความรุนแรงที่มีกลุ่มแก๊ง 4 คนอยู่เบื้องหลัง คนหนึ่งคือ มาดาม เจียง ชิง เมียเหมาคนล่าสุดในตอนนั้นที่ปลุกระดมให้คนจีนบ้าคลั่ง ถึงขนาดว่านายกรัฐมนตรีคนซื่ออย่างโจว เอิน ไหล ยังโดนโจมตีว่าซ้ายไม่พอด้วย ยุคนั้นเป็นคอมมิวนิสต์รักพรรคอย่างเดียวไม่พอ ต้องซ้ายสุด ๆ แข่งกันซ้าย ต้องบูชาเหมา เจ๋อ ตุงราวกับเทพเจ้า เป็นสภาวะประหลาดที่สุดในสังคมจีน แต่เราจะเห็นได้ตามปกติในประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการพรรคเดียว ที่เน้นการบูชาบุคคล

ในช่วงกลียุคนั้น เป็นช่วงที่อเมริกาไปเปิดความสัมพันธ์การทูตกับจีน เปลี่ยนดีลของโลกไปด้วย การเข่นฆ่าดำเนินยาวนานไปถึงปี 1976 เมื่อเหมา เจ๋อ ตุงตาย แก๊งสี่คนโดนจับ สภาวะคลั่งเหมาแบบล้นเกินหายลงไป จีนจึงกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

คนในพรรคได้เน้นย้ำถึงเหมา เจ๋อ ตุงไว้ในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษของจีน แม้จะก่อความพินาศมหาศาล ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถือว่า “สิ่งที่เหมาทำเพื่อประเทศ ควรมองเป็นเรื่องหลัก และมองความผิดพลาดเป็นเรื่องรองจะดีกว่า” 

นี่คือจีนในยุคผู้นำรุ่นแรกที่ผันผวนอย่างมาก ในปี 1976 จีนรูปแบบใหม่ก็มาถึง พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้า เปิดประเทศมากขึ้น ด้วยนโยบาย 4 ทันสมัย ที่ออกแบบนำโดยผู้นำรุ่นที่ 2 คนโตตัวเล็กอย่าง เติ้ง เสี่ยว ผิง 

อาทิตย์หน้ามาเล่าสู่กันต่อครับ

………………………………………………………………….
คอลัมน์ : หนอนโรงพัก
โดย “ณัฐกมล ไชยสุวรรณ”
ขอบคุณภาพจาก : wikipidia,Reuters