12 ก.ค. 2565 คือวันที่องค์การอวกาศและการบินสหรัฐ หรือ ‘นาซา’ เผยแพร่ภาพถ่ายชุดแรกที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘เจมส์ เวบบ์’ ที่ถูกส่งออกนอกโลกไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชน และทำให้มนุษย์มีโอกาสเห็นความงามของห้วงอวกาศอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

นับแต่นั้นมา นาซา ก็มีภาพที่ทั้งสวยงามและน่าทึ่ง จากกล้องอวกาศอันทรงพลังนี้ เผยแพร่ออกมาเป็นระยะ ๆ ล้วนแต่น่าจดจำทั้งสิ้น ดังต่อไปนี้

ทั้ง 4 ภาพนี้เป็นภาพชุดแรก ๆ ที่กล้อง เจมส์ เวบบ์ ส่งกลับมายังฐานปฏิบัติการที่พื้นโลก เริ่มจากภาพบนซ้าย เป็นภาพ 2 รูปแบบของวงแหวนเนบิวลาซีกโลกใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง, ภาพบนขวาเป็นภาพส่วนหนึ่งของ ‘ภูมิทัศน์’ ของเนบิวลาคารินา หรือเนบิวลากระดูกงูเรือ, ภาพล่างขวาคือภาพของห้วงอวกาศที่ถ่ายด้วยระบบอินฟราเรดภาพแรกของกล้องเจมส์ เวบบ์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพกล้อง จุดสว่างไสวในแต่ละจุดนั้น ไม่ใช่แค่ดวงดาว 1 ดวง แต่คือกาแล็กซี 1 แห่ง ส่วนภาพล่างซ้ายคือกลุ่มกาแล็กซีทั้งห้าของสเตฟานในกลุ่มดาวม้าบิน ซึ่งประกอบด้วยกาแล็กซี 5 แห่งด้วยกัน และอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กันมาก

ภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เป็นภาพของกาแลกซีแฟนทอม ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าทึ่ง และเผยให้เห็นความเป็นไปได้ว่า จะมีหลุมดำอยู่ในกาแลกซีแห่งนี้ กาแล็กซีแฟนทอมเป็นกาแล็กซีรูปทรงก้นหอยขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 32 ล้านปีแสง

ภาพของดาวพฤหัสบดีที่ส่งมาจากกล้องเจมส์ เวบบ์ ผ่านการปรับแต่งและประมวลผล ทำให้เห็นรายละเอียดบนพื้นผิวของดาว เมฆหมอกที่ปคลุม แสงเหนือที่บริเวณขั้วดวงดาวด้านเหนือและใต้ รวมทั้งบรรยากาศโดยรอบ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ปั่นป่วน มีพายุตลอดปีของดาวเพื่อนบ้านของเราดวงนี้ โดยจุดที่เป็นวงกลมสว่างทางด้านล่างขวาของดาวนั้น มีชื่อเรียกว่า จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นและหมุนอยู่ตลอดเวลาบนดาวพฤหัสบดี

เดือนกันยายน 2565 กล้อง เจมส์ เวบบ์ ส่งภาพดาวเนปจูนและวงแหวนล้อมรอบกลับมายัง นาซา นอกจากนี้ยังมองเห็นจุดสว่างหลายจุดที่บริเวณครึ่งซีกล่างของดวงดาว ซึ่งบ่งชี้ว่า พื้นที่แถวนั้นปกคลุมไปด้วยฝุ่นหรือเมฆที่เกิดจากก๊าซมีเทนที่เยือกแข็ง

ภาพของ ‘เสาแห่งการก่อกำเนิด’ (Pillars of Creation) เป็นหนึ่งภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เวบบ์ ทั้งสองภาพนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล เมื่อปี 2557 (ซ้าย) และภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 (ขวา)

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2566 กล้องเจมส์ เวบบ์ จับภาพที่น่าทึ่งของดาวเสาร์ และวงแหวนที่เรืองแสงได้ รวมทั้งดวงจันทร์บริวาร ด้วยการถ่ายภาพด้วยเลนส์อินฟราเรด

ภาพล่าสุดจากกล้องเจมส์ เวบบ์ ที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 เป็นภาพระบบอนุบาลดาวฤกษ์โร โอฟิวคี (Rho Ophiuchi) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ในช่วงก่อกำเนิดที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะทางราว 390 ปีแสง

เครดิตภาพ : AFP, nasa.gov, webbtelescope.org