จอห์น บาร์เบอร์ อายุราว 55 ปี ตอนที่เขาเสียชีวิตและมีการฝังศพของเขารอบแรกในเมืองกริสโวลด์ รัฐคอนเนคติกัตในศตวรรษที่ 19 แต่เมื่อมีการพบศพของเขาในอีก 150 ปีต่อมา กลับพบว่า ร่างของเขามีร่องรอยของการตัดคอ และนำกะโหลกศีรษะกับกระดูกต้นขาของเขามาวางไว้ในลักษณะไขว้กันตรงลำตัวช่วงที่เป็นซี่โครง มองดูคล้ายสัญลักษณ์หัวกะโหลกพร้อมกระดูกสองท่อนที่ไขว้กันเป็นรูปกากบาทอยู่ด้านล่าง

โครงกระดูกของ บาร์เบอร์ เป็นปริศนาใหญ่ที่ท้าทายนักวิจัยจำนวนมาก นับตั้งแต่มีการขุดค้นพบ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เทคโนโลยีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอได้พัฒนาไปมาก มีส่วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยพบข้อมูลที่เป็น “เบื้องหลัง” โครงกระดูกของชายผู้ที่โดนกล่าวหาว่าเป็น “แวมไพร์” หรือผีดูดเลือดรายนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาจุดที่เห็นพ้องร่วมกันได้ว่า ทำไมจึงมีคนจัดวางโครงกระดูกของเขาไว้ในลักษณะเช่นนั้น

โครงกระดูกของ ‘บาร์เบอร์’ (เบเคอร์) เมื่อแรกพบ มีการนำกระดูกขามาวางไขว้กันใต้หัวกระโหลก

การค้นพบซากร่างของ บาร์เบอร์ เริ่มในยุคทศวรรษที่ 1990 จากการที่มีเด็กคนหนึ่งที่ไปเห็นหัวกะโหลกในบริเวณใกล้เหมืองหินเก่า เมื่อเรื่องไปถึงตำรวจ ก็มีการกั้นพื้นที่เพื่อตรวจสอบ

แต่เดิม บริเวณดังกล่าวถือว่าเป็นพื้นที่สุสานอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นก็เชื่อว่ากระดูกที่พบน่าจะเป็นเหยื่อสังหารของฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังในท้องที่ที่ชื่อว่า ไมเคิล รอสส์ ซึ่งฆ่าเด็กหญิงและหญิงสาวไปถึง 8 ราย ระหว่างปีค.ศ. 1981-1984

แต่ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุได้ว่ากระดูกที่พบในครั้งนี้มีอายุเก่าแก่เกิน 100 ปี นอกจากนี้ ทางการยังค้นพบหลุมศพอื่น ๆ ที่ถูกฝังอยู่ในบริเวณเดียวกันถึง 29 หลุม ซึ่งเป็นศพจากยุคศตวรรษที่ 18-19

ในบรรดาศพเหล่านี้ มีอยู่ศพเดียวที่โดดเด่นออกมา เพราะมีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนหัวกะโหลกกับกระดูกต้นขา ซึ่งทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่า ศพนี้น่าจะเป็นของบุคคลที่คนในยุคนั้นเชื่อว่าเป็น “แวมไพร์”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การจัดวางกะโหลกศีรษะและกระดูกต้นขาเสียใหม่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น เป็นไปตามความเชื่อว่า หากทำเช่นนี้ ศพดังกล่าวจะไม่สามารถลุกขึ้นเดินไปมาและทำร้ายคนเป็นได้

ก่อนหน้าที่ บาร์เบอร์ จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “แวมไพร์แห่งคอนเนคติกัต” เขามีชื่อเรียกเป็นเพียงหมายเลขรหัสว่า ‘เจบี55’ เนื่องจากมีการค้นพบตัวอักษรย่อ ‘เจบี’ สลักไว้ในหมุดทองเหลืองที่ใช้ตอกปิดโลง

ต่อมา จึงได้มีการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ดีเอ็นเอ จับคู่ทางพันธุกรรมกับผู้ที่น่าจะเป็นญาติของเขา จนกระทั่งได้ชื่อที่แท้จริงของเขาออกมาในปี 2562 ว่า ‘จอห์น เบเคอร์’ เสียชีวิตในท้องที่เมื่อปีค.ศ.​1826 ตอนอายุได้ 55 ปี โดยมีสาเหตุมาจากป่วยเป็นวัณโรค 

แบบจำลองหน้าตาของ จอห์น เบเคอร์ แบบสามมิติ สร้างด้วยเทคโนโลยีเอไอ

เบเคอร์ เป็นเพียงชาวนาธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว กลับถูกมองว่าเขาได้กลายเป็น “แวมไพร์” ซึ่งอาจมาจากลักษณะของเขาระหว่างป่วย

ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวซีดหรือผิวหนังกลายเป็นสีเทา ไอเป็นเลือด ซึ่งนับว่าเป็นอาการที่น่าสยดสยองสำหรับผู้ที่พบเห็นในยุคนั้น

“แวมไพร์” ในความหมายของนักโบราณคดีนั้นเป็นคนละเรื่องกับ “แวมไพร์” แบบที่เรารับรู้ผ่านทางภาพยนตร์หรือซีรีส์ และจากการค้นคว้าวิจัยทั่วโลกพบว่า หลายประเทศ หลายวัฒนธรรม มีเรื่องราวและความเชื่อเกี่ยวกับการกลับมาของคนตายเพื่อมาหลอกหลอนคนเป็น 

ด้วยเหตุนี้จึงมีพิธีกรรมในการทำศพที่มุ่งหมายให้ “สะกด” คนตายเอาไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝังศพโดยใส่หินไว้ในปาก การวางเคียวพาดคอศพเอาไว้หรือกระทั่งการตอกตรึงศพไว้ด้วยตะปู 

นักโบราณคดีพบว่า บ่อยครั้งที่พิธีการฝังศพที่ “ไม่ปกติ” เหล่านี้สื่อนัยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีดูดเลือดหรือแวมไพร์ในท้องถิ่น ซึ่งนี่อาจเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนที่เรียกว่า “นิวอิงแลนด์” ของสหรัฐซึ่งประกอบด้วย 6 รัฐคือ เมน, เวอร์มอนต์, นิวแฮมป์เชียร์, แมสซาชูเซตต์, คอนเนคติกัตและโรดไอส์แลนด์ ในยุคศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลา 200 ปีหลังจากยุค “ล่าแม่มด” ในท้องที่ดังกล่าว

โครงกระดูกของ เบเคอร์ ไม่ได้เป็นซากของแวมไพร์เพียงหนึ่งเดียวที่มีการค้นพบในท้องที่ นักบราณคดียังกล่าวถึงเรื่องของครอบครัวเรย์ซึ่งเป็นครอบครัวชาวนาครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกเสียชีวิตจากวัณโรคหลายราย พวกเขาถูกกล่าวหาว่า “ติดเชื้อ” มาจากแวมไพร์ รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นระบุว่าศพของผู้เสียชีวิตของครอบครัวนี้โดนเผาทำลายทั้งหมด

นักโบราณคดีชี้ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือผิดเพี้ยน ในยุคสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่ายุคนี้ ถ้าหากมีโรคระบาดหรือมีพืชพันธุ์เสียหายที่ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ก็จะตัดตอนด้วยการเผา

อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นแย้งว่าการฝังศพของ เบเคอร์ ไม่น่าจะใช่การฝังศพแวมไพร์ตามความเชื่อดั้งเดิม

มัตเตโอ บอร์รินิ นักนิติมนุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์น มัวร์ส์ แห่งเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ระบุว่ากระแสความเชื่อเรื่องแวมไพร์นั้นถึงจุดสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 14 – 18 ดังนั้น ศพของ เบเคอร์ น่าจะเป็นการทำตามความเชื่อในยุคหลังมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น คนในยุคที่หวาดกลัวแวมไพร์จะจัดวางศพเสียใหม่ในระหว่างที่ศพยังมีการเน่าเปื่อยเท่านั้น ขณะที่การจัดวางศพของ เบเคอร์ ดูเหมือนจะทำตอนที่เหลือแต่โครงกระดูกแล้ว

ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่นับว่า โครงกระดูกของ เบเคอร์ เป็นซากของ “แวมไพร์” ตามความเชื่อเดิม แต่เป็นการจัดวางศพที่ผิดเพี้ยนโดยหวังผลในเชิงพิธีกรรมเร้นลับเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือเป็นเพราะขาดความเข้าใจเรื่องโรคและอาการเจ็บป่วยมากกว่าจะเป็นการฝังศพตามความเชื่อเรื่องแวมไพร์.

ที่มา : businessinsider.com

เครดิตภาพ : Parabon NanoLabs, Inc., mdpi.com