ปัญหาเรื่องการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ด้วยฝีมือกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐนอกรีต ซึ่งร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งมีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือและยังป็นผู้รู้กฎหมายอย่างช่ำชอง ระยะหลังการก่อเหตุจึงวางแผนค่อนข้างรัดกุมรอบคอบแบบอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน หรืออุ้มหายไปแบบไร้ร่องรอย จนหาร่างของเหยื่อไม่เจอแม้กระทั่งเศษกระดูก ทำให้การติดตามเอาผิดก็ไม่ใช่ง่าย ๆ

กระทั่งเมื่อมาเกิดคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ “ผู้กำกับโจ้ เฟอร์รารี” พร้อมหลักฐานคลิปถุงคลุมหัวทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดในห้องชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด สภ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สุดท้ายเหยื่อเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ

คลิปสะเทือนขวัญ ถูกตีแผ่ไปในโลกโซเชียล สื่อยักษ์ใหญ่ทั้งในเอเชียและยุโรป ก็นำข่าวเรื่องราวของ “กลุ่มตำรวจนอกรีต” ไปนำเสนอด้วย จนสร้างความสั่นสะเทือนทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระบวนการยุติธรรมเมืองไทย !!

ย้อนปูมหลัง “ร่าง พ...ป้องกันทรมานฯ

เมื่อเรื่องราวของกลุ่มตำรวจนอกรีตถูกตีแผ่ออกมา พร้อมคลิปหลักฐานภาพ-เสียงดังฟังชัดแทบไม่ต้องบรรยาย จึงกลายเป็นเรื่องสะท้อนออกมาให้เห็นถึงปัญหา ยังมี “เจ้าหน้าที่บางกลุ่ม” ใช้วิธีการแบบเก่า ๆ ซ้อมทรมานผู้ต้องหาเป็นเรื่องจริง ทีมข่าว 1/4 Special Report พยายามตามเกาะติดร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้วเช่นกัน เพราะนอกจากคดีของ ผกก.โจ้ ใช้ถุงคลุมหัวทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตแล้ว ยังมีคดีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง คดีซ้อมทรมาน และอุ้มหายประชาชน  ก่อนหน้านี้รัฐบาลหลายชุดพยายามจะออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามเรื่องนี้ โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาและ ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… ขึ้นเมื่อตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… และส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยวันที่ 26 ส.ค. 64 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล เชื่อมั่นว่า สมัยประชุมนี้น่าจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหาย ได้ในวาระ 1 ก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย. 64 และในช่วงปิดสมัยประชุม คณะกรรมาธิการจะได้มีเวลาพิจารณาประมาณกว่า 1 เดือน และจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นปีนี้น่าจะได้ใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว

กำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 ก.ย. 64 ปรากฏร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระเรื่องกฎหมายด่วนที่จะพิจารณาเป็นลำดับที่ 9 จึงมีเสียงเรียกร้องให้เลื่อนการพิจารณาให้เร็วขึ้น ด้วยเกรงว่าจะไม่ทันการพิจารณา ซึ่งจะสิ้นสุดการประชุมสมัยสามัญในวันที่ 18 ก.ย. ประกอบกับกลุ่มญาติของผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย นำโดย น.ส.สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวนายวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหาย และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้ายื่นหนังสือและเข้าพบนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาล เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณาขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 1 ทำให้การประชุมในวันที่ 7 ก.ย. มีวาระการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้เลื่อนจากลำดับที่ 9 เป็นลำดับที่ 4

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 ได้พิจารณารับหลักการร่างกฎหมายเร่งด่วนไปเพียง 1 เรื่อง ทำให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายครั้งต่อไปในวันพุธที่ 15 ก.ย. บรรจุการพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ในลำดับที่ 3 และจะเป็นการประชุมพิจารณารับร่างกฎหมายเป็นครั้งสุดท้ายของการประชุมสมัยสามัญ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะไม่ทันการพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญนี้

แนะโอกาสดีเร่งการพิจารณาให้แล้วเสร็จ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ ซึ่งก็เป็นอีกบุคคลที่ติดตามเรื่องการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว 1/4 Special Report ว่า ในวันที่ 10-12 พ.ย. 64 จะมีการพิจารณา รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเรื่องการซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดอาญาได้ถูกทวงถามมาเกือบสิบปีแล้ว และครั้งนี้ก็คงจะถูกทวงถามอีกแน่นอน ดังนั้นทางรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งในการออกกฎหมายเพื่อแสดงความก้าวหน้าให้เห็นว่าประเทศไทยใส่ใจในเรื่องนี้

อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก เป็นที่สนใจของสังคมอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นต้องเร่งการพิจารณาให้แล้วเสร็จในการประชุมครั้งสุดท้ายวันที่ 15 ก.ย. 64 โดยเลื่อนวาระการประชุมขึ้นมาเป็นเรื่องแรกลำดับที่ 1 ของการพิจารณารับหลักการร่างกฎหมาย ตลอดจนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรายมาตราร่วมกัน ระหว่างร่างของรัฐบาลและร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสามฉบับ กลับมานำเสนอในวันพุธแรกของการประชุมสมัยถัดไปเดือน พ.ย. 64

แนะเปิดช่องช่วยเหยื่อถูกทรมาน

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวถึง การทรมาน ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีกรณีศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 76 กรณี โดยการสัมภาษณ์จากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในภาคเหนือ คดียาเสพติด, ภาคใต้ คดีการก่อความไม่สงบ และกรุงเทพมหานคร คดีการปราบปรามผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังได้ศึกษาอีกกว่า 300 กรณีที่ได้สัมภาษณ์จากญาติที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย สะท้อนออกมาถึงการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ทำให้พบว่าประเทศไทย ยังขาดกลไกรับข้อร้องเรียนที่เป็นอิสระ เพื่อให้เข้าถึงการชดใช้เยียวยาอย่างเต็มที่ ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลไกรับข้อร้องเรียนเป็นกลไกและสามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้การร้องเรียนอาจกระทำผ่านโทรศัพท์สายด่วน หรือการเปิดตู้รับข้อร้องเรียนในสถานควบคุมตัวและมีการเก็บข้อมูลเป็นความลับ หรือการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนชายขอบหรือผู้เสียเปรียบ รวมทั้งผู้ที่มีความสามารถจำกัดในการสื่อสารทางภาษาและความรู้ทางกฎหมาย เมื่อพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้น

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา หมวดความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อสิทธิเสรีภาพ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งสามารถปรับใช้ในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจาก ความผิดฐานกระทำทรมาน นั้นไม่ได้เน้นคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายเพียงประการเดียว แต่เนื่องจากผู้กระทำความผิดในฐานดังกล่าวต้องเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ ผู้ที่กระทำภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื้อใจของระบบกระบวนการยุติธรรม ผู้รักษากฎหมาย ที่จะไม่เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ฐานความผิดดังกล่าวจึงแตกต่างจากฐานความผิดต่อชีวิตและร่างกายทั่วไป

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบัญญัติเป็นฐานความผิดเรื่อง การกระทำทรมาน แยกออกมาต่างหากจากฐานความผิดทางอาญาทั่วไป และกำหนดโทษของผู้กระทำผิดให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการรักษากฎหมายแต่กลับกระทำความผิดเสียเอง ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรม.