จะว่าไปตอนนี้ทุกหย่อมหญ้าในเมืองไทยพูดถึงประเด็นของ Soft Power ของรัฐบาล นายกเศรษฐา ทวีสิน กันอย่างมากมาย เรียกว่าใครไม่ได้ยินชื่อนี้คงเชยและไม่ได้ติดต่อโลกเป็นแน่ ซึ่งคำว่า Soft Power นี้ก็มีทั้งคนที่รู้ว่าคืออะไร และไม่รู้ว่าคืออะไร รวมถึงรู้แต่อธิบายไม่ได้ และรู้แต่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้เต็มไปหมด

ดังนั้นวันนี้ yimyim จาก Dailynews Online ตัวสวยตัวเริ่ดของวงการจะมาชำแระประเด็นนี้ให้ฟังกันคร่าวๆ รวมถึงส่งเสียงดังๆยู้ฮู้ๆให้ท่านนายกฯและคณะได้ฟังในมุมของคนบันเทิงกันสักหน่อยว่าจริงๆแล้ว Soft Power ที่พวกท่านกำลังตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งในเมืองไทยนั้น มันสำคัญมากจริงๆนะ และหวังว่ามันจะเป็นไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เพราะถ้ามันเป็นไปได้ก็บอกเลยว่า “ประเทศไทย” จะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่หลายคนรู้จักและรักมากขึ้นเชียวแหละ

จริงๆคำว่า Soft Power มันก็คือพลังเงียบ พลังเบา หรือพลังที่เก็บซ่อนอยู่ ซึ่งถ้าแปลแบบวิชาให้เข้าใจกันแบบง่ายๆก็คือ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกหยิบยกมาใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงใช้ในบริบททางการเมือง การแสดง และอื่นๆ โดยซอฟต์พาวเวอร์ เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นโดยศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะเขียนหนังสือ Soft Power the Means to Success in World Politics จำหน่ายในปี 2004 นั่นเอง นอกจากนี้ Soft Power ยังหมายถึง การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน การดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อ นำเสนอผ่านสื่อ หรือผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้นอีกด้วย

เอาจริงๆถ้าพูดกันง่ายๆก็คือการสอดแทรกกระแสเงียบผ่านพฤติกรรม ความคิด ตลอดจนวิถีชีวิตของสิ่งที่เราต้องการชี้นำไปสู่ผู้รับสารนั่นแหละ โดย Soft Power นี้ไม่ได้หมายถึงด้านใดด้านหนึ่งนะ แต่มันคือทุกด้านๆสามารถสอดแทรกพลังเงียบนี้ให้เกิดผลต่อความรู้สึกของคนที่รับสารได้ ซึ่งให้นึกง่ายๆและ Model Study นี้ก็มีมาให้เห็นอย่างหลากหลายมาแล้ว โดยเฉพาะในวงการบันเทิง วงการที่เป็นเสมือนสปอร์ตไลท์ให้คนเห็นได้ง่ายที่สุดของแต่ละประเทศ ซึ่งเกาหลีใต้เองก็ประสบความสำเร็จจากโมเดล Soft Power นี้ที่สอดแทรกผ่านวัฒนธรรม K-POP ที่บ้านเราและทั่วฮิตอยู่ตอนนี้มาแล้ว และไม่ว่าจะกิน เที่ยวหรืออะไรต่างๆของประเทศเกาหลีใต้ก็ล้วนแล้วแต่มาจากจุดเล็กๆของคำว่า Soft Power นี่แหละ

งานนี้เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้และไทยก็พูดกันชัดๆว่า Model Study ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดตอนนี้ เน้นว่าตอนนี้นะคะ คงหนีไม่พ้นสาวสวย ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปคนดังสัญชาติไทยที่ขยับตัวไปทางไหน ใช้อะไร โดยเฉพาะที่เป็นของไทยก็พาให้สิ่งนั้นได้รับความนิยมกันอย่างมากมายมาไล่เรียงกันหน่อยไหม เริ่มจากสาวลิซ่านุ่งผ้าซิ่นลาย ผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมคราม ไปเที่ยวอยุธยากับเพื่อนๆ จนเกิดเป็นกระแสว่าลวดลายผ้าซิ่นที่ลิซ่าสวมใส่นี้คืออะไร และหลายคนอยากไปหาซื้อมาสวมใส่บ้าง ซึ่งตอนนั้นผ่าซิ่นก็ได้รับความนิยมกันอย่างมากมายทันที สร้างรายได้ให้กับคนที่อยู่ในอยุธยาที่มีคนไปเที่ยวมากขึ้น ไม่รวมร้านผ้าซิ่นที่สาวลิซ่าไปซื้อมาใส่นะ ก็ได้ผลพลอยได้จากความนิยมในตัวสาวลิซ่าเช่นกัน

ถัดมาเป็นเรื่องของตำมะม่วงกันบ้างที่สาวลิซ่าลงสตอรี่ผ่านอินสตาแกรมไปที คนก็เห็นลุกจากบ้านออกไปซื้อมาทานกันอย่างมากมาย ทำให้ตอนนั้นคนก็หันมากินตำมะม่วงกันอยู่เป็นเดือนๆทีเดียว ทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้มากขึ้นเลยในช่วงนั้น

ตัดมาที่ล่าสุดกับการที่สาวลิซ่าที่ล่าสุดเพิ่งทุบสถิติขึ้นแท่นเป็นศิลปินเค-ป๊อปหญิงคนแรก ที่มียอดสตรีมถึงพันล้านครั้ง บน Spotify และได้รับโล่พันล้านจาก Spotify มาครอบครองได้สำเร็จไปหมาดๆ งานนี้ตัวแม่ตัวมัมอย่างสาวลิซ่าจะชิลๆรับโล่ไปเฉยๆก็คงไม่ได้เธอเลยออกมาแชร์เมนูโปรด เป็นข้าวไข่เจียวกุ้งสับพร้อมกับที่นำโล่พันล้านจาก Spotify มาเป็นจานรองสุดพรีเมียม แถมยังชูซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการโรยท็อปปิ้ง “พริกน้ำปลา” ลงไปในเมนูไข่เจียว ตบท้ายด้วยของหวานอย่างเมนู “ขนมปังไอติมกะทิ” อวดชาวโลกซะเลย งานนี้เลยทำให้เมนูข้าวไข่เจียวราดพริกน้ำปลาฮิตติดลมบน มีแต่คนหันมานานกันอย่างมากมาย ส่งผลให้เมนูนี้ฮอตติดเทรนด์ทุกร้านในไทยเลย

หรือย้อนกลับไปเป็นสาว มิลลิ ดนุภา สาวเก่งแร็พเปอร์คนดังที่ก็เคยสร้างความทรงจำและความปังให้คนทั้งโลกเห็นมาแล้วจากการกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีดนตรีระดับโลกมาแล้ว ทำเอาคนค้นหากันหนักมากว่าข้าวเหนียวมะม่วงของไทยคืออะไร และส่งผลให้คนสนใจกินจนมะม่วงขาดตลาดกันเลย

นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆอย่างที่บอกเท่านั้นว่าคำว่า Soft Power กับประเทศไทย เอาจริงๆมันมีมานานแล้วนะ และเราเองก็เคยทำได้มาแล้วอย่างมากมายผ่านคนดัง เน้นว่าผ่านคนดัง อย่างที่รู้กันคนดังมีคนตามหลายแสนหลายล้านคน เราก็นำคนดังมาเป็น Model ส่งต่อความปังให้เป็น Soft Power ไปสิ ไม่ใช่ไทยไม่เคยทำนะ ต้องยอมรับว่าเราเคยทำมาตลอดแต่กระแสก็คือกระแส พอมาสักพักก็จบ ไม่ได้สานต่อจนเป็น Soft Power จริงๆ

วันนี้มันถึงตอนที่เราต้องคิดผ่าน “กลยุทธ์” ให้แยบยลได้แล้วว่าเราจะส่งผ่านความนิยมในตัวของคนดังให้กลายเป็น Soft Power ดันสินค้าไทย ดันความสนใจและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยยังไงให้ทั่วโลกสนใจ และที่สำคัญการทำ Soft Power ให้เกิดขึ้น อย่าทำเพียงแค่ “วันสองวันหรือชั่วคราว” แต่มันควรทำต่อเนื่อง ซ้ำๆ ย้ำๆ และนำเสนอผ่านสื่อและ “อุตสาหกรรมบันเทิง”ไปนี่แหละง่ายสุด จากนั้นขยายผลไปสู่การท่องเที่ยวและดึงคนมาหลงรักเมืองไทย มาเป็นครอบครัวคนไทยกัน

หากมองในมุมที่ไม่ได้คิดอะไรเลย Star Model Study นี่แหละที่ทำเกาหลีใต้เจริญสุดขีดมาแล้วทุกด้าน ขอเพียงแต่รัฐบาลมองเห็นคนในวงการบันเทิงอย่างจริงจัง และพร้อมนำเสนอ พัฒนาและผลักดันทุกด้านให้คนบันเทิงผลิตผลงานดีๆ ออกไป พร้อมการโปรโมทและพีอาร์ที่ดีแค่นี้ Soft Power ที่ใฝ่ฝันไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม

ที่สำคัญรัฐบาลอยากโปรโมทอะไรที่เป็นสินค้าหรือการท่องเที่ยวไทย ก็ใช้คนดังนี่แหละส่งผ่านไป คนที่มีกระแสส่งผ่านความปังออกไป ขับเคลื่อนกระแสไปเรื่อยๆ ให้คนเห็นผ่านคนดังไปเยอะๆ ภาพจำมันก็เกิด คนก็สนใจและตามหา และนำไปสู่การตอบรับวัฒนธรรมและสนใจประเทศไทยมากขึ้นนั่นเอง

แค่ใช้ “คนดัง” ให้เป็น และพัฒนาให้ตรงจุด” ต่อยอด” ให้ได้ Soft Power ก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป

ฝากไว้ให้คิด


คอลัมน์ “1 Day With ซุปตาร์”

โดย yimyim