ฟุตบอล “จตุรมิตรสามัคคี” ครั้งที่ 30 เตะจบกันไป ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา แต่ยังมีควันหลงตามมาอยู่เรื่อยๆ

ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องข้าง และเบื้องล่าง ที่ทำให้เห็นถึงความพยายามของทุกคน ที่อยากจะเห็นผลงานของทีมตัวเองออกมาดีที่สุด

ยิ่งรู้ ยิ่งเห็น ยิ่งอ่าน ยิ่งทำให้เห็นว่า “ฟุตบอลนักเรียน” ในปัจจุบันนี้ ก้าวไปอีกขั้นแล้วจริงๆ

“จตุรมิตร” อาจเป็นการแข่งขันของ 4 โรงเรียน คือ สวนกุหลาบ, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ, กรุงเทพคริสเตียน

แต่สำหรับ “บอลขาสั้น” มันเปรียบได้กับ “ฟุตบอลโลก” ที่ทุกคนยอมทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายชนิดไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย โดยไม่หวังผลตอบแทนแม้แต่บาทเดียว

เป้าหมายเดียวคือทำให้ “โรงเรียน” อันเป็นที่รักคว้า “แชมป์เดี่ยว”

บทความนี้ ขอยกตัวอย่าง “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” ที่กว่าจะคว้าแชมป์มาครองได้ในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ว่าจะเป็น “แชมป์ร่วม” กับ กรุงเทพคริสเตียน ก็ตาม

“ชมพู-ฟ้า” ไม่ได้ “แชมป์เดี่ยว” จตุรมิตร มานานถึง 36 ปี แต่ปีนี้ ผลงานดีเหลือเชื่อ ชนะรวดในรอบแรก ผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี

อันดับแรก ที่ต้องพูดถึงแน่นอนว่า คือตัวนักฟุตบอล และสต๊าฟโค้ช ที่นำโดย “เจ้าอ๋อ” ศักดา เจิมดี อดีตมิดฟิลด์ขาลุยดีกรีทีมชาติไทย

ศักดา เจิมดี และ ธนพัต ณ ท่าเรือ

สวนกุหลาบ มาครั้งนี้ ไม่ใช่ในฐานะทีมเต็งแชมป์ คู่แข่งอีกทั้ง 3 โรงเรียนดูแล้วเหลื่อมพวกเขาอยู่ทั้งหมด

แต่แค่นัดแรก สวนกุหลาบ ก็เอาชนะ กรุงเทพคริสเตียน ได้อย่างไม่น่าเชื่อ 2-1 เพราะโดนบุกทั้งเกม แถมเสียจุดโทษ

แต่ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แถมบุกไม่กี่ทียังยิงได้ถึง 2 ประตู

แสดงให้เห็นถึง “หัวใจ” ของเด็กชุดนี้ที่ไม่ธรรมดา และกว่าจะทำได้ขนาดนี้ ย่อมมีเหตุผล

เพจเฟซบุ๊ค “นักเกรียน สวนกุหลาบ” เปิดเผยว่า เหตุผลนั้นก็คือ “นักจิตวิทยาการกีฬา” (Sport Psychologist) ที่ลูกสวนชุดนี้ได้มือดีมาดูแล

พี่หมอปลา กับ น้องๆ

นั่นคือ “พี่หมอปลา” ดร.เอกรัตน์ อ่อนน้อม นักจิตวิทยาการกีฬา จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬามหิดล MUSS ที่มาทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าทีมจิตวิทยา”

จึงไม่แปลกที่ นักบอลสวนชุดนี้จะลงสนามแบบไม่กลัวใคร ไม่ตื่นเต้น แม้คนดูเป็นหมื่น กล้าเล่น กล้าลุย กล้าแลก กันทุกคน นั่นเพราะได้รับการ “เทรน” จากมืออาชีพมาแล้วเป็นอย่างดี

ซึ่งนั่นแน่นอนว่า จะทำให้น้องๆทุกคนสามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตการเป็นนักบอลหรือชีวิตส่วนตัวได้ด้วย นี่จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

เพจดังกล่าว ระบุว่า “พี่ปลา” ไม่ได้มาแค่ตอนแข่งเท่านั้น เพราะงานเสริมสร้างจิตวิทยาเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสร้างต่อเนื่อง และพี่ปลาก็ทุ่มเทเต็มที่เพื่อทีม

ใจแกร่งแล้ว ร่างกายไม่แข็งแรงก็คงไม่ได้ และสวนกุหลาบชุดนี้ก็มีการนำ “ทีมฟิตเนส” ระดับมืออาชีพมาดูแลอย่างใกล้ชิด

โค้ชหนู ดูแลฟิตเนส

หัวหน้า “โค้ชฟิตเนส” ก็คือ “โค้ชหนู” ณัฐพล เสนหนู อยู่ช่วยทีมมาตั้งแต่จตุรมิตรครั้งที่ 28 หรือ 9 ปีแล้ว และวันนี้ ความพยายามนั้นก็ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม

ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังมีทีมแพทย์ระดับ “ทีมชาติ” มาทำหน้าที่หมอประจำทีมด้วย

นำโดย “พี่หมอบี๋” นพ.ทวนฤทธิ์ สอนสะอาด OSK112 ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ รพ.นครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย

เมื่อได้รับการทาบทามให้มาเป็นแพทย์ประจำทีมให้รุ่นน้อง “พี่บี๋” แทบไม่ต้องคิด แม้ว่าจะต้องเหน็ดเหนื่อย และเสียเงินเสียทอง เดินทางไปกลับ กรุงเทพ-เชียงใหม่อยู่บ่อยๆก็ตาม

หมอบี๋ แพทย์ประจำทีม

การวิเคราะห์เกม ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในเกมฟุตบอลยุคปัจจุบัน “ข้อมูล” คือทรัพย์สินที่ประเมินค่าไม่ได้ สวนกุหลาบ จึงมี “ทีมวิเคราะห์เกม” อยู่ร่วมกับทีมตลอดเวลา

ทีมงานนี้นำโดยอดีตนักฟุตบอลดีกรีรองแชมป์บอลกรมพละ “อะตอม OSK138” จากรั้วมหิดล

อะตอม ไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังหอบหิ้วเพื่อนจากมหิดลอีก 2 คนมาช่วย วิ่งขึ้น วิ่งลง บนสแตนด์กับขอบสนาม และเกาะติดการเล่นของทุกทีม ทุกคน พร้อมวิเคราะห์เกมสรุปมาให้โค้ชและนักเตะฟัง

โค้ชอะตอม วิเคราะห์ข้อมูลละเอียด

เหล่านี้คือปัจจัยเบื้องหลังที่สำคัญไม่น้อยกว่าเบื้องหน้า และแสดงให้เห็นว่าบอลนักเรียนสมัยนี้ก้าวไปจนใกล้จะถึงระดับ “มืออาชีพ” เข้าไปทุกที

ส่วนเกมในสนามเอง ก็ยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักบอลโรงเรียนสมัยนี้ หลายคนฝึกอยู่กับอะคาเดมีของสโมสรอาชีพ เรียนรู้ ฝึกฝน การเป็นนักเตะอาชีพมาตั้งแต่อายุน้อย

ยิ่งเป็นรายการใหญ่ และศึกแห่งศักดิ์ศรีอย่าง “จตุรมิตร” ยิ่งยอมกันไม่ได้ ทุกทีมจึงเล่นหนัก ใส่ไม่ยั้ง มีฮึดฮัดกันบ้างเป็นปกติ

แต่ไม่มีอีกแล้วที่จะน็อตหลุด วิ่งไล่เตะ ไล่ต่อยกันในสนาม

หนักก็หนักในเกม ใส่กันไม่มีติดเบรกตามประสาลูกผู้ชายวัยห้าว ทั้งหมดก็เพื่อโรงเรียน เพื่อสถาบันที่พวกเขารัก แต่จบแล้ว ทุกคนคือเพื่อนกัน

การวางหมาก วางแท็คติก ของโค้ชก็แยบยลขึ้น สต๊าฟโค้ชได้รู้ได้เห็น มีความรู้มากขึ้น รู้ว่าเล่นกับใครต้องทำยังไง บางนัด ความสามารถเฉพาะตัวอาจเป็นรอง แต่ก็ใช้ “ทีมเวิร์ค” และความขยันทุ่มเทเข้ามาสู้ จนก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

“บอลนักเรียน” ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่แค่เอา “นักเรียน” มาเตะบอลกันอีกต่อไป และน่าสนใจเหลือเกินว่า “จตุรมิตร” ครั้งที่ 31 ในอีก 2 ปีข้างหน้า บอลนักเรียนจะก้าวไปไกลอีกแค่ไหน.

สุดท้ายนักฟุตบอลทุกคนก็คือเพื่อนกัน

ขอบคุณข้อมูล และภาพจากเพจเฟซบุ๊ค นักเกรียน สวนกุหลาบ