ผมเป็นลูกหลานชาวนา ยังมีที่มีทางให้ญาติพี่น้องทำนากันบ้าง จึงพอรู้วิถีชีวิตของชาวนาบ้างพอสมควร!

ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ก็หูผึ่ง! ดีใจไปกับญาติพี่น้อง เมื่อทราบว่าขายข้าวเปลือกนาปรัง (ข้าวขาว) ได้ราคาดีตันละเกิน 10,000 บาท บางคนก็ได้ 11,000-12,000 บาท ราคาสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 65 ตันละ 2,500-3,000 บาท

โดยปกติใครเกี่ยวข้าวก่อนจะได้ราคาดี แต่ต่อมาเมื่อเกี่ยวข้าวกันมาก ๆ จะได้ราคาถูกลง! แต่ปีนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ใครเกี่ยวข้าวทีหลังกลับได้ราคาดีกว่าคนเกี่ยวก่อน เพราะประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าว-ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ต้น ๆ ของโลก (อินเดีย-ไทย-เวียดนาม) ประสบปัญหาเอลนีโญ จึงงดส่งออกข้าวถึงเดือนพ.ย.66 ส่งผลทำให้ราคาข้าวไทยราคาพุ่ง!

สัปดาห์ก่อนก็หูผึ่ง!อีก เมื่อทราบว่าช่วง 10 เดือนของปี 66 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซียมีปริมาณสูงถึง 1,057,537 ตัน เนื่องจากอินโดนีเซียเจอปัญหาเอลนีโญ ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย โดยข้าวที่ส่งออกไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่ คือ ข้าวขาว 5-10% ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือนปี 66 มีปริมาณการส่งออกรวม 6,922,649 ตัน ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65

“พยัคฆ์น้อย” จึงได้แต่หวังว่าอานิสงส์การส่งออกข้าวไปอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไทยขยับสูงขึ้น ไปจนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 67

แต่วันก่อนกลับรู้สึกเฉย ๆ กับข่าวผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก (The World’s Best Rice 2023) ในการประชุมข้าวโลกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผลปรากฏว่า ข้าวสายพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 66 เอาชนะพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดราว 30 ตัวอย่างจากหลายประเทศ

ขณะที่ฝ่ายสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าปีนี้ไทยไม่ได้ส่งข้าวเข้าร่วมประกวด เนื่องจากสมาคมฯ มองว่าการประกวดครั้งนี้ไม่มีความเป็นกลาง

โดยส่วนตัว “พยัคฆ์น้อย” ขอสรุปแบบนี้ว่า “แชมป์โลกผู้ส่งออกข้าว-แชมป์โลกพันธุ์ข้าว” คือ “มายาคติ”  ของผู้ส่งออกข้าว ที่ใช้ได้ผลมาหลายสิบปี

Free photo farmer planting rices in the field

คนอ่านข่าวที่ไม่ได้เป็นชาวนาก็เคลิ้ม! (ถ้าไทยได้แชมป์โลก) คนเมืองที่ไม่เป็นชาวนา แต่เมื่อเสพข่าวลักษณะนี้ก็พลอยเคลิ้มไปกับตำแหน่ง “แชมป์” โดยไม่ได้มองโลกของความเป็นจริงว่านี่คือ “แชมป์โลกของผู้ยากไร้”

ไปดูเถอะ! ปีนี้ข้าว 3 พันธุ์ที่ผ่านเข้ารอบ ได้แก่ พันธุ์ข้าวจากกัมพูชา-เวียดนาม-อินเดีย แล้วสภาพความเป็นอยู่ของชาวนา 3 ประเทศนี้ รวมทั้งชาวนาไทยของเราด้วย ร่ำรวยกันขึ้นหรือไม่ ฐานะความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือเปล่า?

ไทยเคยครองแชมป์มาหลายปี แต่ความเป็น “แชมป์” ไม่ได้ให้อะไรที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวนา ดูฐานะของชาวนาในปัจจุบันจะเห็นภาพได้ดี แล้วโอกาสทวงคืนแชมป์ไม่ยากเลย! เพียงแต่เมื่อเป็นแชมป์แล้ว ชาวนาได้ประโยชน์อะไร?

ข้าวเป็นพืชปลูกง่าย เลียนแบบกันง่าย ประเทศไหน ๆ ก็สามารถก้าวเข้ามาแข่งขันได้ แต่ในตลาดข้าวต่างประเทศแข่งขันกันรุนแรงมาก ส่วนแชมป์ผู้ส่งออกข้าว-แชมป์พันธุ์ข้าว มักจะวนเวียนอยู่แถว ๆ ไทย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ล้วนแต่เป็นประเทศยากจน ชาวนายากจนกันทั้งนั้น และภาระหนี้สินเพียบ!

การ “ทวงแชมป์” ทำได้ไม่ยาก! เนื่องจากไทยมีหน่วยงานราชการทางด้านการเกษตรเพียบ! ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด-กรม-กระทรวงเกษตรฯ มีสถานีวิจัยพันธุ์ข้าว แถมยังมี “กรมการข้าว” ซึ่งปี 64 ได้งบประมาณ 2,501 ล้านบาท ปี 65 ได้งบฯ 2,043 ล้านบาท ปี 66 งบฯกระโดดขึ้นมาเป็น 15,000 ล้านบาท

ประเทศไทยมีเกษตรอำเภอ-เกษตรจังหวัด-สถานีวิจัยพันธุ์ข้าว-กรมวิชาการเกษตร-กรมส่งเสริมการเกษตร-กรมพัฒนาที่ดิน-กรมการข้าว แต่ปัจจุบันผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยทั้งประเทศ ได้ถึง 1 ตัน/ไร่ หรือยัง? แต่ได้งบฯแต่ละปีไม่ใช่น้อย มีข้าราชการ-ลูกจ้างจำนวนมาก เคยมีการวัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน ( KPI) กันบ้างหรือไม่?

————————-
พยัคฆ์น้อย