สงครามครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ปะทุเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เมื่อสมาชิกกลุ่มฮามาสหลายพันคนเป็นฝ่ายเปิดฉาก ปฏิบัติการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ ในเขตทางใต้ของอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 ราย และมีการลักพาตัวชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติรวมมากกว่า 200 คน กลับไปเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา

แน่นอนว่า อิสราเอลโจมตีโต้กลับอย่างหนักหน่วง คร่าชีวิตประชาชนในฉนวนกาซาแล้วมากกว่า 20,000 ราย คิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรทั้งหมด ตามสถิติก่อนเกิดสงครามครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งเน้นการโจมตีทางอากาศเป็นหลัก ทำให้ราว 85% ของประชากรในฉนวนกาซาต้องไร้ที่อยู่อาศัย และชาวฉนวนกาซาประมาณ 500,000 คน ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

แม้มีการพักรบครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.- 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล 80 คน ชาวไทย 23 คน และชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ส่วนอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 240 คน แต่จนถึงตอนนี้ กลุ่มฮามาสยังคงควบคุมตัวประกันไว้อีกราว 129 คน ในจำนวนนี้ 8 คน เป็นพลเมืองไทย

พล.ท.เฮอร์ซี ฮาเลวี ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมอิสราเอล กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ “จะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน” และอิสราเอล “จะใช้กลยุทธ์ทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย” ที่รวมถึง การต้องเข้าถึงตัวนายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวว่า สันติภาพในฉนวนกาซาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อกองทัพอิสราเอลสามารถบดขยี้กลุ่มฮามาส “ให้สิ้นซาก” ได้แล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ฉนวนกาซาต้องเป็น “พื้นที่ปลอดทหาร” และสังคมของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา “ต้องไม่มีแนวคิดหัวรุนแรงอีกต่อไป” โดยขั้นตอนการปลดอาวุธและการทำให้ฉนวนกาซาเป็นเขตปลอดทหาร รวมถึงการจัดตั้ง “พื้นที่ความมั่นคงชั่วคราว” และอิสราเอล “จำเป็นต้องควบคุมความมั่นคง” ในฉนวนกาซา “นานช่วงระยะเวลาหนึ่ง”

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถยนต์และบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งได้รับความเสียหายจากการโจมตีของรัสเซีย ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน 13 ธ.ค. 2566

ทั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สงครามในฉนวนกาซาเบี่ยงเบนความสนใจของชาวโลกไปจากสงครามยูเครนได้อย่างมาก ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในสมรภูมิแทบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้กองทัพยูเครนเปิดฉากปฏิบัติโต้กลับเมื่อช่วงกลางปี แต่แทบไม่สามารถกระชับพื้นที่คืนจากอีกฝ่ายได้มากนัก ด้านกองทัพรัสเซียไม่ได้ยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทว่ายังคงรักษาภูมิภาคทางตะวันออก และบางส่วนทางตอนใต้ซึ่งยึดไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม ได้อย่างเหนียวแน่น

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทวีความรุนแรงในช่วงใกล้สิ้นปี เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างการยิงเครื่องบินรบของอีกฝ่ายตกหลายลำ และกระทรวงกลาโหมรัสเซียอยืนยันว่า เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ “โนโวเชอร์คาสก์” ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือในเมืองเฟโอโดซิยา บนคาบสมุทรไครเมีย ในทะเลดำ ได้รับความเสียหายจากการโจมตีโดยเครื่องบินรบของยูเครน ซึ่งติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย

นักรบของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติท่าอ่าง ( ทีเอ็นแอลเอ ) เดินผ่านเจดีย์ซึ่งได้รับความเสียหาย จากการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับพันธมิตรกองกำลังชาติพันธุ์ ที่เมืองน้ำสั่น ในรัฐฉาน ทางเหนือของเมียนมา 12 ธ.ค. 2566

ขณะที่เมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยเป็นระยะทางยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยสถานการณ์ทวีความรุนแรงช่วงปลายปี เมื่อพันธมิตรภราดรภาพ ที่ประกอบด้วยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติท่าอ่าง ( ทีเอ็นแอลเอ ) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา ( เอ็มเอ็นดีเอเอ ) และกองทัพอาระกัน ( เอเอ ) ซึ่งเปิดฉากสู้รบกองทัพเมียนมา โดยใช้รหัสปฏิบัติการ “1027” เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา เริ่มที่รัฐฉาน

แม้จีนซึ่งมีพรมแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับรัฐฉานซึ่งอยุ่ทางเหนือของเมียนมา ประกาศเมื่อกลางเดือนพ.ย. ว่าผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา กับผู้แทนกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง รวมถึง “การหยุดยิงชั่วคราว และการรักษาเสถียรภาพของการเจรจา” อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ กองทัพเมียนมาและกลุ่มนักรบชาติพันธุ์ยังคงสู้รบกันอยู่ และเป็นวิกฤติการณ์ด้านความมั่นคง ที่ไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิด.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP