แนวทางการรักษามะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าอัตราการตายของผู้ป่วยมะเร็งตับยังคงสูงอยู่ และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มีลักษณะการแบ่งตัวและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดเร็ว การเกิดก้อนมะเร็งมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง และมักจะเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยตับแข็ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ปัจจุบันพบว่าโรคมะเร็งตับที่มีขนาดก้อนเล็กบางรายก็อาจหายขาดได้ จากการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด (surgical resection) มีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่อยู่ในสภาพเหมาะสมต่อการผ่าตัด ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดมากขึ้น เนื่องจากมีความตระหนักในการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นมากขึ้น

ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ในกรณีที่โรคมะเร็งเป็นรุนแรง ไม่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ จึงมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฉีดแอลกอฮอล์เข้าสู่ก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนัง (percutaneous ethanol injection), การทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน (thermal ablation) และการรักษาด้วยวิธีใส่สารเคมีบําบัดเฉพาะที่และอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง (transarterial chemoembolization)

แนวทางการรักษามะเร็งท่อน้ำดี

การรักษามะเร็งท่อน้ำดีเพื่อหวังผลหายขาดทำได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น การผ่าตัดเนื้องอกออกและตัดได้หมด (negative margin) เป็นโอกาสเดียวที่จะรักษาให้หายขาดได้ ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาร่วม (definitive adjuvant regimen) ที่จะทำให้อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วแต่ตัดออกไม่หมด ควรได้รับการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพเป็นราย ๆ ไป เช่น การตัดเนื้องอกออกเพิ่ม (additional resection), การทำลายเนื้องอก (ablative therapy) หรือการใช้เคมีบําบัดร่วมกับรังสีรักษา อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาแบบสุ่ม (randomized clinical trial) ที่มีข้อมูลพอที่จะยืนยันผลการรักษาในแต่ละแบบที่กล่าวมาแล้วได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดเนื้องอกออกได้ทั้งหมด อาจมีแนวทางการรักษา เช่น การรักษาแบบประคับประคอง (supportive care) ส่วนการให้การรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับให้เคมีบําบัด หรือการให้เคมีบําบัดเพียงอย่างเดียว ยังคงมีผลการรักษาที่ไม่ดี หรือการผ่าตัดเนื้องอกปฐมภูมิออก เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรก ซ้อนจากเนื้องอกปฐมภูมิ หรืออาจจะให้เคมีบําบัดได้แต่ยังไม่มีสูตรที่เหมาะสม

จากทั้งหมดที่กล่าวมาในตอนต้น จะเห็นว่ามะเร็งตับและท่อน้ำดีมักวินิจฉัยได้ในระยะท้ายของโรคทำให้ผลการรักษาไม่ค่อยดี ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติที่สงสัยให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

สามารถติดตามความรู้ข่าวสารด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ และเว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/

ข้อมูลจาก

แพทย์หญิงหนึ่งฤทัย โอฬารนภาลัย แพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์