หากเด็กโรคอ้วนไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและอายุขัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนต่อระบบต่าง ๆ มีดังนี้

  • ระบบกระดูกและข้อ เกิดจากน้ำหนักตัวกดลงบนกระดูกข้อเข่าและข้อเท้า ทำอันตรายต่อแผ่นเยื่อเจริญกระดูกเข่าด้านใน ทำให้เกิดขาโก่ง (Blount disease) สำหรับวัยรุ่นโรคอ้วนมักมีต้นขาใหญ่ ทำให้เกิดโรคหัวกระดูกสะโพกเลื่อน (slipped capital femoral epiphysis) ขาฉิ่ง (knock knee) และเกิดกระดูกหักได้เวลาล้ม
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เด็กโรคอ้วนมักมีความดันเลือดสูง โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย และความดันเลือดสูงสัมพันธ์กับมวลไขมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ไม่มีอาการ อาจพบการทำงานของหลอดเลือดผิดปกติ หลอดเลือดแดงมีผนังหนาและอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติและเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เด็กที่เป็นโรคอ้วนรุนแรงอาจพบความดันหลอดเลือดในปอดสูง และหัวใจซีกขวาล้มเหลว เกิดอันตรายรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
  • ระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีสมรรถภาพปอดลดลง อาจมีปัญหาของการหยุดหายใจขณะหลับ จากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) โดยมักมีอาการนอนกรนเสียงดัง และมีอาการหยุดหายใจ ผวาตื่น ฝันร้าย หรือปัสสาวะรดที่นอนเวลากลางคืน ปวดศีรษะและง่วงนอนเวลากลางวัน รวมทั้งผลการเรียนตกต่ำ ในโรคอ้วนที่รุนแรงอาจพบการหายใจไม่พอ มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งและขาดออกซิเจน เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Pickwickian syndrome ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดความดันหลอดเลือดในปอดสูง
  • ระบบทางเดินอาหารและโรคตับ อาจพบปัญหากรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease, GERD) โรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะตับคั่งไขมัน (non-alcoholic fatty liver disease, NAFLD) ซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมตาบอลิกและระดับอินซูลินในเลือดสูง และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับแข็งและมะเร็งตับในเวลาต่อมา 
  • ระบบต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิซึม พบภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) โดยพบมากขึ้นตามความรุนแรงของโรคอ้วน และนําไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กและวัยรุ่น อาจพบระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ผลของภาวะอ้วนจะทำให้เด็กหญิงมีแนวโน้มมีหน้าอกเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภาวะมีถุงน้ำในรังไข่ (polycystic ovary syndrome, PCOS) ซึ่งจะทำให้มีประจำเดือนขาดหรือมาผิดปกติ มีลักษณะของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น เสียงห้าว มีสิว ขน หนวดเพิ่มขึ้น และมีปัญหามีบุตรยากในอนาคต เด็กอ้วนมักมีอายุกระดูกล้ำหน้าอายุจริง ทำให้ในช่วงแรกมักมีความสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่อ้วน แต่กระดูกมักปิดเร็วกว่าปกติ จึงทำให้ส่วนสูงในวัยผู้ใหญ่ไม่สูงกว่าศักยภาพทางกรรมพันธุ์
  • ความผิดปกติทางผิวหนัง มักพบ acan thosis nigricans คือ ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลดำนูนหนา ไม่คัน พบที่บริเวณลำคอ รักแร้ ข้อพับ และขาหนีบ ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งพบร่วมกับภาวะดื้อต่ออินซูลินและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบรอยแตก (striae) ในโรคอ้วนที่รุนแรงและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็ว อาจพบลักษณะผื่นแดงบริเวณข้อพับ (intertrigo) เกิดจากการเสียดสี และความอับชื้น มักพบการติดเชื้อราแทรกซ้อน และติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณที่มีขน
  • ด้านจิตใจและสังคม พบว่าเด็กอ้วนมีการขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้มีผลต่ออารมณ์ การพัฒนาความคิด ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และภาพลักษณ์ต่อร่างกายของวัยรุ่น อาจเกิดปัญหาในการเข้าสังคม ซึมเศร้า วิตกกังวล เด็กมักใช้การกินเพื่อระบายความอึดอัดคับข้องใจ

นอกจากนั้น ถ้าเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งอีกหลายชนิดบุคลากรการแพทย์ ครอบครัว และสถานที่ทำงาน ควรจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการป้องกันภาวะอ้วนในเด็ก ควรหลีกเลี่ยงใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งอาจทำให้เสียสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ครอบครัว ชุมชนและสังคมต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย และการนอนหลับที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดโรคเบาหวานในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในอนาคต.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์