“Campus Life” สัปดาห์นี้ มีนวัตกรรมเจ๋งๆ ฝีมือหนุ่ม – สาว ในรั้วมหาวิทยาลัย มานำเสนอกันอีกแล้วจ้า นั่นก็คือ “คูลเลอร์วอทิ่ง” ระบบช่วยยืดอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์หรือโซลาร์พาแนล ไอเดียของกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีสมาชิก ประกอบด้วย ลลิดา เตชะวิโรจน์อุดม, สรชัช ขวัญเกลี้ยง, ปภพ พันธรักษ์, กิตติเชษฐ์ อาริยะธนาศักดิ์, พงศภัค รติปัญญากุล, ธนภัทร พานบัว, มนสิชา โสภิตลาภธนา และพีรวัส สันติเฟืองกุล โดยมีอาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข และอาจารย์ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/01/นักศึกษาฟีโบ้ชั้นปี3-เจ้าของผลงาน-คลูเลอร์วอทิ่ง-นวัตกรรมยืดอายุแผงโซลาร์เซลล์-1.jpg)
“ลลิดา” ในฐานะหัวหน้าทีมฯ บอกว่า ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจากหัวข้อโปรเจกต์เกี่ยวกับการลด Waste ซึ่งพวกเราก็เห็นว่าในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตการใช้โซลาร์พาแนลหรือแผงโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในทางเลือกของพลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความนิยม พวกเราจึงสนใจหาวิธี หรือนวัตกรรมที่จะมาช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งการที่อายุการใช้งานของตัวแผงโซลาร์เซลล์ลดลง เกิดจากการมีรอยร้าวเล็กๆ เกิดขึ้นบนแผง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้าลดลง ซึ่งรอยร้าวเหล่านี้มีสาเหตุจากการโก่งตัว (deflection) หรือการเกิดไมโครแครก (Micro-crack) ที่เกิดบนผิวหน้าแผงมีอุณหภูมิที่สูงเกินไปต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นแนวคิดของเรา คือ หาวิธีการตรวจสอบอุณหภูมิบนของแผงโซลาร์เซลล์พร้อมกับมีกลไกการลดอุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ให้ลดลง ในกรณีที่ตรวจพบว่าอุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งไอเดียนี้จะประกอบด้วย 2 ระบบ คือ ระบบควบคุมอุณหภูมิโดยใช้น้ำ (Water Cooling) และการตรวจความผิดพลาดของการทำงานด้วย I-V Curve
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/01/pic_คลูเลอร์วอทิ่ง-นวัตกรรมยืดอายุแผงโซลาร์เซลล์-4.jpg)
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/01/pic_คลูเลอร์วอทิ่ง-นวัตกรรมยืดอายุแผงโซลาร์เซลล์-2.jpg)
“พีรวัส” เสริมว่า เนื่องจากอุณหภูมิเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพการสร้างไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ โดยแผงโซลาร์เซลล์จะมีประสิทธิภาพสูงสุดที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และจะมีประสิทธิภาพลดลง 0.5% ทุกอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุก 1 องศาฯที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิบนแผง สูงเกิน 50 องศาฯ ตัวแผงมีโอกาสที่จะเกิดการโก่งตัว เกิดรอยร้าว หรือปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งสิ่งที่เลือกใช้ควบคุมอุณหภูมิบนแผงคือ น้ำ โดยเลือกใช้ “ระบบวอเตอร์คูลลิ่ง”เป็นการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป โดยการใช้น้ำในการระบายความร้อนบนตัวแผงให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยระบบจะมีการวัดอุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์แต่ละแผงทุก 15 นาที ถ้าพบว่าถ้าอุณหภูมิหน้าแผงสูงกว่า 45 องศาฯ ก็จะทำการเปิดระบบให้น้ำให้ไหลผ่านด้านบนของแผง จนอุณหภูมิลดลงมาที่ 40 องศาฯก็จะหยุดจ่ายน้ำ และนอกเหนือจากระบบตรวจวัดและระบบควบคุมอุณหภูมิบนแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ยังนำ “I-V Curve” มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลแผงโซลาร์เซลล์ทั้งระบบแบบ real time ซึ่งทันทีที่พบความผิดปกติของแผงตัวใด ก็จะมีการตัดการเชื่อมต่อการส่งกระแสไฟฟ้าของแผงนั้นออกจากระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น เพราะหลายกรณีหากฝืนใช้งานต่อก็จะเป็นผลเสียกับตัวระบบไปด้วย โดยจะมีการแจ้งตำแหน่งของแผงที่ทำงานผิดปกติให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมระบบทราบ
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/01/pic_คลูเลอร์วอทิ่ง-นวัตกรรมยืดอายุแผงโซลาร์เซลล์.jpg)
อย่างไรก็ตามถึงแม้ผลงาน “คูลเลอร์วอทิ่ง” ยังเป็นเพียงตัวต้นแบบ แต่ทีมงาน “Campus Life” มองว่า หากได้นำเอาไปประยุกต์หรือต่อยอดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ได้ และผลที่จะตามมาอีกก็คือ ช่วยลดปริมาณขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย