พร้อมถามว่า การได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้าที่คนอื่นสูบมีอันตรายไหม กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ที่ห้ามสูบบุหรี่มวนด้วยหรือเปล่า

คำตอบคือ ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อคนใกล้ชิดที่ไม่สูบบุหรี่ และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกที่ที่ห้ามสูบบุหรี่

สาเหตุที่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า สูบในที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ อาจจะมาจากไม่รู้ว่ากฎหมายห้ามสูบ หรือไม่รู้ว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้าที่พ่นออกมามีอันตรายต่อคนอื่นที่อยู่ใกล้ชิด

ผมจึงขอนำข้อมูลที่เผยแพร่โดยสมาคมวิชาชีพในสหรัฐอเมริกา มาแชร์ต่อดังนี้

สมาคมมะเร็งอเมริกัน  

ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ประกอบด้วย

• นิโคติน

• ฝุ่นขนาดเล็กมากที่เข้าถึงส่วนลึกของปอด

• สารไดอะซิทิล สารปรุงรสที่ทำให้เกิดโรคปอดร้ายแรง

  • สารโพรพิลีนไกลคอล และกลีเซอรีนจากพืช ทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจและปอด

•  สารระเหยอินทรีย์ เช่น เบนซิน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งสารอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ ระคายเคืองต่อคอ จมูก ตา และเป็นอันตรายต่อระบบประสาท ตับและไต

  • สารฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ใช้ดองศพ เป็นสารก่อมะเร็ง
  • โลหะหนัก เช่น นิกเกิล ตะกั่ว และดีบุก

•  สารอะโครลีน ซึ่งเป็นยาฆ่าวัชพืช ทำให้เป็นหืด ปอดได้รับบาดเจ็บ ถุงลมปอดพอง และมะเร็งปอด

งานวิจัยปี ค.ศ. 2020 พบความสัมพันธ์ของการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง เพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการหายใจลำบาก และอาการหลอดลมอักเสบในคนอายุน้อย

มีตัวอย่างที่กุมารแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ที่รักษาเด็กที่เป็นหวัด ติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำซาก รักษาไม่หายเสียที ถามประวัติพ่อแม่ก็บอกว่าไม่ได้สูบบุหรี่  จนวันหนึ่งคุณยายมาพบว่า พ่อเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า และคิดว่าไม่มีอันตรายต่อลูก ซึ่งความจริงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นหวัดเรื้อรังรักษาไม่หาย

อีกราย เด็กเป็นโรคหืดที่ได้รับการรักษาและควบคุมอาการได้ดี แต่ต่อมาอาการหืดกลับควบคุมไม่ได้ มีอาการกำเริบบ่อยและรักษายาก แพทย์สืบจนพบว่า คุณแม่เปลี่ยนเอารถของพี่ชายมาใช้รับส่งเด็ก ซึ่งพี่ชายคุณแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า กรณีนี้ น่าจะเป็นเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในรถ จะทำให้มีสารเคมีจากไอบุหรี่ไฟฟ้าตกค้างในรถ เด็กมีอาการกำเริบของโรคหืดจากการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือ 3 

จึงอยากให้ช่วยกันสื่อสารให้รู้ทั่วกันว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง เป็นอันตรายต่อคนไม่สูบบุหรี่ และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกที่ที่ห้ามสูบบุหรี่

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต  วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์