โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังติดกับดักที่ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ! หรือไม่วิกฤติ (ขยายตัวช้า)

วิกฤติ! หรือไม่วิกฤติ (ขยายตัวช้า) ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะมอง? ขึ้นอยู่กับว่า มองจากด้านบนลงล่าง หรือมองจากด้านล่างขึ้นบน

คนที่มีเงินเดือน+เบี้ยประชุม รวม ๆ กันแล้วหลายหมื่นบาท ไปถึงหลักล้านบาท/เดือน มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤติ ซึ่งคงจะมองจากด้านบนลงล่าง จึงเห็นรายได้ในกระเป๋าของตัวเองยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ยังเห็น “เจ้าสัว” และบริษัทใหญ่ ๆ มีผลประกอบการที่ดีอยู่ และเห็นธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจไทยจึงยังไม่ถือว่าวิกฤติ เพียงแต่ขยายตัวช้า! มา 8-9 ปี หลังมีการทำรัฐประหารเมื่อปี 57

แต่ถ้ามองอย่างคนชั้นกลาง มองแบบคนที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านต่างจังหวัด จึงมองจากด้านล่างขึ้นบน จะเห็นสภาพตลาดสด ตลาดนัดเงียบเหงา คนขายมากกว่าคนซื้อ คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีกำลังซื้อ บ้านถูกยึด รถยนต์ถูกยึด ขอกู้ซื้อบ้านราคา 2-3 ล้านบาทยากมาก!

เนื่องจากรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่กว่า 80% และ “จีดีพี” ของประเทศในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เติบโตไม่ทันกับภาระหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศที่สูงกว่า 16 ล้านล้านบาท มาตั้งแต่ไตรมาส 2/66

ย้อนไปปี 66 “จีดีพี” ไตรมาสแรกโต 2.6% ไตรมาสสองโต 1.8% ไตรมาสสามหดลงมาเหลือ 1.5% ไตรมาสสี่เหลือ 1.4% เฉลี่ยทั้งปี 66 โตจึงแค่ 1.8%

โดยปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งให้จีดีพีปี 66 ให้ตกต่ำลงมา คือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติถึง 2% (เดือน ส.ค. 65-ปัจจุบัน) เป็นผลให้มีเม็ดเงินที่ถูกดูดออกไปจากกำลังซื้อในตลาดมากมายหลายแสนล้านบาท

ถ้าคิดเป็นตัวเลข 2% ของหนี้ครัวเรือน (16 ล้านล้านบาท) จะเท่ากับ 320,000 ล้านบาท และ 2% ของหนี้สาธารณะ (11 ล้านล้านบาท) จะเท่ากับ 220,000 ล้านบาท

ช่วงต้นปี 66 มี 2-3 หน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทย คาดการณ์ว่าจีดีพีเฉลี่ยทั้งปี 66 จะอยู่ที่ 3% กว่า ๆ แต่แล้วก็ค่อยปรับลดลงมาที่ 2.4-2.6% ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า 3 ไตรมาสแรก จีดีพีเฉลี่ยโตแค่ 1.9% (แถมไตรมาสสามโตเพียง 1.5%) แล้วทำไม? ยังหาญกล้าคาดการณ์ว่าเฉลี่ยทั้งปีจะโต 2.4-2.6%

เมื่อปีที่แล้ว ขนาดจีดีพีของประเทศจีนโตขึ้นถึง 5.2% ตามเป้าหมาย แต่รัฐบาลจีนยังไม่พอใจ ต้องการให้เติบโตได้มากกว่านี้ ดังนั้นในเดือน ธ.ค. 66 จึงออกพันธบัตรมาอีก 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) โดยแบ่งใช้เป็น 2 ส่วน คือ ครึ่งหนึ่งใช้อัดฉีดเดือน ธ.ค. 66 อีกครึ่งหนึ่งใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 67

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจีนยังมีนโยบายให้แบงก์ต่าง ๆ ลดการตั้งสำรองลงมาอีก 0.5% นั่นเท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินถูกปล่อยกู้จากธนาคารออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 2 ล้านล้านหยวน (10 ล้านล้านบาท)

จะเห็นได้ว่าขนาดจีดีพีของจีนโตได้ถึง 5.2% ในปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจีนยังดำเนินนโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกมากถึง 15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10,174 บาทต่อคน เทียบกับไทยที่จีดีพีโตเพียง 1.8% (โตต่ำเตี้ยเฉลี่ย 1.8% เรื้อรังมาร่วม 10 ปี รั้งท้ายในอาเซียน)

แต่พอรัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ 500,000 ล้านบาท ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หรือเฉลี่ยราว ๆ 7,500 บาท/คน (น้อยกว่าจีน 26%) กลับมีคนพยายามออกมาต้านกันอย่างสุดฤทธิ์

หรือมองแต่จากด้านบนลงล่าง จึงเห็นแต่เจ้าสัว-บริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์-ธนาคารพาณิชย์ที่โกยกำไร 2.2 แสนล้านบาท โดยจีดีพีปี 66 ที่โต 1.8% คงกระจายอยู่แค่คน 3 กลุ่มนี้เท่านั้นแหละ!!.

—————-

พยัคฆ์น้อย