องคาพยพของรัฐบาลบอกว่า “ประชาชนที่เขาเดือดร้อนรอไม่ได้” แต่เห็นฝั่งรัฐบาลเองนั่นแหละที่เบาใจ คือไม่รู้บอร์ดดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง เป็นประธาน จะนัดประชุมวันไหน เคาะให้มันได้เสียทีว่า จะจ่ายเมื่อไร ไหนบอกจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด พูดอยู่นั่น “ประชาชนรอไม่ได้ๆๆๆๆ”

ตอนนี้บอร์ดเงินดิจิทัลอยู่ในสภาพส่งรัฐมนตรีหนิม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มาเป็นหนังหน้าไฟ แบบว่าเลื่อนออกไปก่อน จ่ายไม่ทัน พ.ค.นี้แน่ๆ เอาจริง น่าจะเนื่องจาก “ไม่รู้เอาเงินจากไหน” ระหว่างกู้ในประเทศแล้วตั้งงบผูกพันใช้หนี้เอา โดยออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. หรือกระทั่งออกบอนด์ หรือตราสารหนี้กับต่างประเทศ ซึ่งก็อารมณ์แนวๆ กู้ต่างประเทศ ..ข้างฝ่ายนายกฯ นิดก็ดูมึนๆ บอก รอการตีความจาก ป.ป.ช.ก่อนว่า กฎหมายมันขัดต่อระเบียบการเงินการคลังหรือไม่ ออกได้หรือไม่..แนวๆ กลัวซ้ำรอยจำนำข้าว ..และยังบอกอีกว่า ฝ่าย ป.ป.ช.ก็รอความชัดเจนจากรัฐบาล ซึ่งไม่รู้ว่า ต่างก็ต้องการข้อมูลชุดไหนจากกันและกัน ..แต่ที่แน่ๆ คือ รัฐบาลต้องหาอะไรพิงไว้ก่อน ถ้าถูกโจมตีว่า โครงการเจ๊ง ทำให้เกิดเอ็นพีแอล ก็บอกว่า “ตอนนั้น ป.ป.ช.บอกให้ทำได้”

ก็ทำลืมๆ ไปก่อนแล้วกันว่ารัฐบาลมีโครงการนี้  แล้วต่อมา ก็คือเรื่องของการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งก็ยึกยักตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาก่อนออกเป็น พ.ร.บ.อีก ที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งกันคือ “คดีความผิดตาม ม.112 ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ?” เอาจริง นิรโทษกรรมหรือไม่มันต้องดูเจตนา ถ้าจงใจบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี อาฆาตมาดร้ายสถาบันจริงๆ ก็ไม่ต้องนิรโทษ เพราะเรื่องของสถาบันฯ ถูกผูกเป็นเรื่องรัฐชาติของความเป็นไทย ..แต่ถ้าเป็นกรณีใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง หรือกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ก็ควรต้องนิรโทษ อย่าเหมารวมด้วยคำว่า “ไม่นิรโทษคดี ม.112” มิฉะนั้นคดีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง สร้างความกลัว สถาบันฯ จะมัวหมอง ..

อย่าให้เหมือนกรณีหนังสือพิมพ์รัศมีอังกอร์ สมัยก่อนที่ลงข่าวดาราสาวชื่อดังดูหมิ่นกัมพูชา แล้วลามไปถึงขั้นเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา คือเอาอะไรที่พูดไปเรื่อย หรือใส่ความว่าคนอื่นหมิ่นสถาบันไปขยายให้บานปลายเพื่อกลั่นแกล้งกันจนควบคุมไม่ได้  เช่น นาย ก.ไม่ถูกกับนาย ข. ก็ไปไขข่าวต่อในอินเทอร์เนตว่า นาย ข.มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบัน ซึ่งพิสูจน์ทราบไม่ได้ และถ้าดูๆ แล้ว “ไม่มีผลกระทบอะไรต่อความมั่นคงหรือสร้างความมัวหมองให้สถาบัน” ก็ไม่ต้องรับฟ้องแต่ต้น  … เพราะจะกลายเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อสถาบันฯ เข้าไปอีก  

เรื่อง ม.112 กำลังสร้างความรู้สึกหลากหลายในสังคมไทย สายอนุรักษ์นิยมก็คิดแบบหนึ่ง สายเสรีนิยมก็คิดแบบหนึ่ง แต่เท่าที่ดูการวิเคราะห์ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า บอกว่า “ศาลไม่ได้ปิดช่องห้ามแก้” เพียงแต่ การแก้ไขต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่จะปลุกม็อบกลางถนน โดยนายปิยบุตรยกตัวอย่างว่า วิธีแก้ไขเนื้อหาอาทิ มันมีช่องทางให้ผลักดันแก้ไขอยู่ คือ การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา ในประเด็น ลดอัตราโทษ ยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำ  แบ่งแยกความผิด ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ หมิ่นประมาท ฐานหนึ่ง ดูหมิ่น ฐานหนึ่ง แสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกฐานหนึ่ง และแบ่งแยกตามตำแหน่งที่คุ้มครอง  กำหนดให้นายกฯ ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดตาม  ม.112 แต่เพียงผู้เดียว เพราะปัญหาตอนนี้คือใครก็ร้องได้ และกลายเป็นการกลั่นแกล้ง

ทีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งวินิจฉัยทำนองว่า “การหาเสียงเพื่อแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรคหนึ่ง “บุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้” และศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว มันก็ทำให้การเคลื่อนไหวเรื่อง ม.112 ของพรรคก้าวไกลชะงักไป เหมือนเงินดิจิทัลวอลเลตที่ไม่รู้เอาไงต่อดี ..แต่ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลได้เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.อาญา ม.112 ไปแล้ว จากการเข้าชื่อ สส.44 คน  ก็เลย..ไม่เรียกว่าถูกตั้งข้อสังเกตล่ะ เรียกว่า ฟันธงเลยก็ได้ว่ามีนักร้องไปหาเรื่องถอดถอน สส.และยุบพรรคแน่ แล้วก็มีจริงๆ

ซึ่งถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม การเสนอกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะพิจารณาให้ผ่านหรือตก อย่างกฎหมายนิรโทษกรรมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สภาผู้แทนฯ ให้ผ่าน แต่พอกระแสกดดันมากเข้า วุฒิสภาตีตก ก็ไม่หยิบมาพิจารณา ตั้ง กมธ.ร่วมซ้ำ … ซึ่งไม่ต้องไปถึงอำนาจตุลาการ มองว่า สส.ก็มีสิทธิ์เสนอกฎหมาย ประชาชนเข้าชื่อกันครบ ก็มีสิทธิ์เสนอกฎหมาย แต่ทุกอย่างต้อง“เป็นไปอย่างโปร่งใสและเรียบร้อย” .. คือ ไม่มีลักษณะการรณรงค์ให้ได้มาซึ่งกฎหมายด้วยวิธีป่วนเมือง เช่นม็อบที่เย้วๆ ปิดถนน สร้างความรุนแรงที่หน้าศาล หรือแถวดินแดง

แต่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับม็อบ กปปส.นี่ก็เป็นเรื่องขำขื่นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเอาเข้าจริง ม็อบ กปปส. ก็ควรจะได้ชื่อว่า “ละเมิดรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา ก็ขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วประกาศให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่บอกปฏิรูปอะไร บอกแค่ให้ชนะก่อน ..เมื่อเขายุบสภาแล้วก็ต้องเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มันไม่มีช่องโหว่ตรงไหนบอกว่าให้ปฏิรูป ..เหมือนไปใช้กฎหมู่นอกรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ กปปส.ยุติการกระทำ และปล่อยให้มีการเลือกตั้งบ้าง ( หรือมียื่นแต่ถูกล้างไพ่ ยึดอำนาจเสียก่อนก็ไม่แน่ใจ )  

สส.ที่เข้าชื่อ 44 คนก็ถือว่า “ทำตามสิทธิ สส.” แต่ สส.ที่จะมีปัญหาคือ สส.ที่มีพฤติกรรมในการสนับสนุนม็อบที่กระทบต่อสถาบัน เช่น ไปร่วมม็อบ เอาตำแหน่งไปประกันตัวม็อบ หรือกระทั่งที่ซวยคือหาเสียงให้ยกเลิกกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เหมือนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ( และน่าจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก ) ไปพลาดตอนที่โดนกลุ่มทะลุวังให้ติดสติ๊กเกอร์เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิก ม.112 และไปปราศรัยในทำนองที่มีคำว่า “ยกเลิก” ทั้งที่เป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ

เรื่องนี้จะกลายเป็นคดีจริยธรรม สส.ซึ่งต้องไปจบที่ศาลฎีกา  ก็อาจมี สส.หรืออดีต สส.ก้าวไกลถูกตัดสิทธิ์แบบ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าที่โดนตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตเพราะรูปๆ เดียว จะยุบพรรคหรือไม่คาดเดาไม่ได้ มันต้องกลับไปให้ กกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก ..ซึ่งขณะนี้ แม้นายปิยบุตรจะพยายามปลุกความกล้าของพรรคเท่าไร ถึงกระทั่งดูแคลนที่เอานโยบายแก้ ม.112 ออกจากเวบไซด์พรรค ก็ไม่มีใครจะบ้าจี้ไปกับเรื่องที่ทำนายทิศทางไม่ได้ ..อย่างที่ชาวเน็ตเขาตอบโต้ว่า มีปัญหาคนโดนไม่ใช่ปิยบุตรนี่

แต่สิ่งหนึ่งที่นายปิยบุตรโพสต์แล้วน่าสนใจคือ “ความเป็นซูเปอร์องค์กร” ขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขามองว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะคานอำนาจได้โดยการออกกฎหมาย นายปิยบุตรโพสต์ว่า “หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมแทบไม่เห็นคนของพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญเลย มีเพียงการแถลงสั้นๆของหัวหน้าพรรคเท่านั้น จุดยืนของพวกเราตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ คือ การต่อสู้กับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ ณ วันนี้ ผมเห็นการต่อสู้ในเรื่องนี้น้อยมาก  มีแต่ ส.ส. มีแต่นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐนี่แหละ ที่จะต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง  การปล่อยให้ประชาชนคนทั่วไปรับภาระในการสู้กับศาล นั่นคือ การผลักภาระให้พวกเขาเสี่ยงโดนคดี  สส.ต่างหากที่มีอำนาจตรากฎหมาย อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ  พรรคการเมืองต่างหากที่มีโอกาสเสนอนโยบายผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปมีอำนาจรัฐ  หาก สส. และพรรคก้าวไกล ไม่คิดสู้กับศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ก็คงไม่เหลือใครที่พอจะยันกับศาลรัฐธรรมนูญได้ ในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยับกินแดน สถาปนาตนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง 

การโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ตั้งแต่ วิจารณ์คำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย หรือ ตั้ง กมธ. ศึกษาแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งหมด เสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตีกรอบมาตรา 49 มิให้รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงสกัดขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติในทุกขั้นตอน เว้นแต่ การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ป.ภายหลังจากผ่านรัฐสภาและก่อนทูลเกล้าฯเท่านั้น  เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนที่มาและองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ  เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญได้  เสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน

ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ตอนจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้มี ส.ส.ร.จะพูดถึงเรื่องการคานอำนาจ และการป้องกันการเกิดซูเปอร์องค์กรมากแค่ไหน ..เรื่องจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็รับฟังความเห็นโน่นนั่นนี่ แบบสงสัยว่า “ในช่วงเวลาขัดแย้งหลายปีที่ผ่านมา ก็มีการรับฟังความเห็น แล้วเอาไปใช้ไม่ได้เลยหรือ ?” วิธีแก้ไขก็คือต้องแก้ ม.256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งมันต้องใช้เสียง สว.ผ่าน แต่ก็ย้อนกลับไปศึกษากันต่อว่า “แล้วจะแก้ 256 นี่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนหรือไม่ ?” ไม่ทำก็เดี๋ยวมี “นักร้อง”ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินอีก จนปัจจุบันน่ามึนงงไปหมดแล้วว่า ต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะไปยึดคำศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ ที่ว่า “รัฐธรรมนูญมาจากการลงมติเห็นชอบของประชาชน จะแก้ต้องถามประชาชนก่อน” ก็ยักแย่ยักยันกันต่อไป จนที่สุดเพื่อไทยหาทางออกโดยการยื่นร่างแก้ไข ม.256 ไป เพื่อให้เกิดข้อขัดแย้งแล้วไปถามศาลรัฐธรรมนูญ

มันก็วนๆ กันอยู่อย่างนี้ ก็มีหลายคนชักจะรู้สึกว่า ศาลรัฐธรรมนูญนี่มีอำนาจสูงสุดยิ่งกว่าฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเสียอีก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจต้องคิดถึงการคานอำนาจขององค์กรอิสระมากขึ้น โดยใช้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกมา เพื่อความยึดโยงกับประชาชน.