การเดินทางไกลของแบร์รี จากเม็กซิโกสู่สหรัฐ เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นจุดผ่านแดนสำหรับผู้ขอลี้ภัยทั่วโลก ไม่ใช่แค่ผู้อพยพในภูมิภาคลาตินอเมริกาเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป

นอกเหนือจากยุโรป แบร์รียังเดินทางผ่านเมืองชายฝั่งที่มีผู้อพยพหนาแน่นของสหรัฐ เพื่อไปยังเมืองโคลัมบัส ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นบ้านของผู้พลัดถิ่นชาวมอริเตเนีย ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ผมแค่ต้องการเสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการแสดงออกกลับคืนมา” แบร์รี อดีตเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) กล่าวถึงการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วง เมื่อปีที่แล้ว ในมอริเตเนีย ประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองผิวสี

แม้ประเทศร่ำรวยหลายประเทศ พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคของการย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ แต่บันทึกของสำนักงานศุลกากรและปกป้องเขตแดนของสหรัฐ (ซีบีพี) ในปีงบประมาณ 2566 ระบุว่า จากจำนวนผู้อพยพข้ามพรมแดนเกือบ 2.5 ล้านคน มีผู้คนราว 1.26 ล้านคน มาจากนอกประเทศต้นทางตามปกติ อย่างเม็กซิโก, ฮอนดูรัส, กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้น 234% จากปี 2564 ซึ่งในเวลานั้น มีพลเมืองจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 4 ประเทศข้างต้น เดินทางข้ามชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐ เพียงประมาณ 378,000 คนเท่านั้น

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐคว่ำบาตรผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำของเม็กซิโก ซึ่งส่งชาวคิวบาและชาวเฮติ ไปยังนิการากัว ที่มีนโยบายวีซ่าไม่เข้มงวด นั่นจึงทำให้ผู้คนมักเดินทางไปที่นั่น ก่อนมุ่งหน้าไปยังสหรัฐโดยทางบก

ทั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีบางคนกล่าวว่า ความพยายามของกลุ่มประเทศยุโรป ในการปิดกั้นเส้นทางต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคซาฮารา และเมดิเตอร์เรเนียน ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนหน่วยยามชายฝั่งของลิเบีย เพื่อสกัดผู้อพยพทางทะเล อาจกลายเป็นสิ่งที่ผลักดัน ให้ผู้คนมุ่งหน้าไปยังสหรัฐมากขึ้น

อนึ่ง วิกฤติการอพยพย้ายถิ่นฐาน กำลังสร้างความปั่นป่วนในการเมืองภายในสหรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือน พ.ย. 2567 ซึ่งตอนนี้ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐเทกซัส กับสำนักงานลาดตระเวนพรมแดนสหรัฐ (ยูเอสบีพี) กำลังมีข้อพิพาทกัน เกี่ยวกับการควบคุมพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กำลังใช้ประเด็นการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โจมตีรัฐบาลชุดปัจจุบัน ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP